สธ. เผย พบปัญหาเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น เหตุจากการใช้ยาฯ มากเกินความจำเป็น พบคนไทยติดเชื้อดื้อยาฯ ปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ยอดผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด ปี 2553 เสียชีวิต 38,481 ราย แซงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 4 หมื่นล้าน คุมเข้มมาตรฐานการเฝ้าระวังและควบคุมการติดเชื้อ รณรงค์ประชาชนใช้อย่างถูกต้อง
นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นว่า ปัจจุบันปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้น ทั้งการใช้อย่างไม่จำเป็นและเกินความจำเป็น โดยมูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะของคนไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีการติดเชื้อชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ทำให้ยาปฏิชีวนะตัวเก่าที่เคยใช้ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ผู้ป่วยบางรายต้องเปลี่ยนใช้ยาตัวใหม่ซึ่งมีราคาแพงมาก เชื้อดื้อยาบางชนิดไม่มียารักษาที่มีประสิทธิผลดีและปลอดภัย ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้นและโอกาสเสียชีวิตสูง ผลเสียต่อไปหากเชื้อชนิดนี้แพร่ไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นและเกิดการระบาดในชุมชน จะมีผลทำให้โรคติดต่อที่เคยควบคุมได้กลับมาระบาดมากขึ้น นอกจากนี้ เชื้อดื้อยายังสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปสู่เชื้อสายพันธุ์อื่น ทำให้ปัญหาการดื้อยาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ศึกษาข้อมูลผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทุกระดับและข้อมูลการติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ 1,023 แห่ง ในปี 2553 พบว่า เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ที่พบบ่อยในโรงพยาบาลและมักดื้อยาปฏิชีวนะหลายขนาน ได้แก่
1.เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อี โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม
4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด 5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นประมาณ 3.24 ล้านวัน เสียชีวิต 38,481 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในปี 2552 ที่มี 34,383 ราย และมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหลอดเลือดสมองที่มี 50,829 ราย
สำหรับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ พบว่า ค่ายาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเชื้อดื้อยาจะมีมูลค่าประมาณ 2,539 -6,084 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.6-1.6 ของค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพของประเทศในปี 2553 ซึ่งมีมูลค่า 392.4 แสนล้านบาท รวมทั้งยังทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วย เช่น ค่าเดินทางและค่าอาหารของญาติ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ไม่รวมความสูญเสียจากการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาในชุมชน
นายแพทย์โสภณ ระบุว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่าง สมเหตุสมผล โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดซื้อยาต้านจุลชีพที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีจำนวนชนิดของยาเท่าที่จำเป็นไว้ใช้สำหรับบำบัดรักษาผู้ป่วย มีระบบกำกับดูแลและสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล ดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพของการตรวจทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาและระบบเฝ้าระวังความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพให้ได้มาตรฐาน โดยได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกเครือข่ายการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว 60 แห่ง ร่วมเก็บข้อมูลการเพาะเชื้อและทดสอบความไวของเชื้อ ส่งรายงานไปยังศูนย์ดังกล่าว เพื่อรวบรวมวิเคราะห์ความชุกของเชื้อแบคทีเรียและสถานการณ์การดื้อยาระดับประเทศ
ประการสำคัญ ได้ให้ทุกจังหวัดเร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง โดยประชาชนที่ได้รับยาปฏิชีวนะจากสถานพยาบาลจะต้องกินยาให้ครบสูตรตามที่แพทย์สั่ง ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยก็คือ พอกินยาไป 2-3 วัน อาการดีขึ้น คิดว่าหายขาดแล้วและหยุดกินยา อีกประการหนึ่ง การเจ็บป่วยบางโรคก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ เช่น ไข้หวัดทั่วๆ ไปซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่ป่วยกันมากที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไม่มียารักษาเฉพาะ ต้องอาศัยการพักผ่อน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากการติดเชื้อจึงไปซื้อยาปฏิชีวนะมากิน และเมื่ออาการดีขึ้น จึงคิดว่ายาชนิดนี้รักษาหายซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 มีนาคม 2556
- 7 views