ความก้าวหน้าในการจัดการที่สำคัญยิ่งของงานด้านสุขภาพคือ การที่มีการตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ด้านสุขภาพเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุข เพราะทุกองค์กรล้วนมีข้อจำกัดกระทรวงสาธารณสุขเองก็เช่นกันซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่โต เทอะทะ เน้นการรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดก็แทบจะหมดแรงทำภารกิจอื่นแล้ว การจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจก็มีข้อจำกัดในเชิงประสิทธิภาพ ประกอบกับนิยามสุขภาพที่กว้างไกลเป็นสุขภาวะ ทำให้มีการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระขึ้นมาร่วมปฏิบัติการในการดูแลสุขภาพเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุข โดยเรียกรวมๆ ว่า องค์กรตระกูล ส.
ในปี 2535 จึงมีการก่อตั้งองค์กรตระกูล ส. องค์กรแรกคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) จากการวิจัยทำให้มีองค์ความรู้และได้ผลักดันผลการวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายและการก่อตั้งองค์กรที่มีภารกิจเฉพาะอีกหลายองค์กรตามมา อันได้แก่ การก่อตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)ในปี 2542 ก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ในปี 2544 ก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในปี 2545 ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ในปี 2550 ก่อตั้งสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ในปี 2551 เป็นต้น ในปัจจุบันองค์กรตระกูล ส.เหล่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเด็นทางสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักกับผู้คนในสังคมว่าสุขภาพเป็นประเด็นของทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะของหมอหรือของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรตระกูล ส. ต่างสร้างสรรค์งานเพื่อสุขภาพคนไทยไปมาก แม้ภารกิจจะแตกต่างแต่ก็มีทิศทางไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการส่งเสริมการเติบโตของภาคประชาชนให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆโดยองค์กรตระกูล ส.ทำหน้าที่อำนวยการให้ภาคประชาสังคมเติบโต เสนอเสียงสะท้อนจากประชาชน และผลักดันนโยบายสาธารณะที่ควรจะเป็น ซึ่งทิศทางเช่นนี้เองที่เป็นเสมือนก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐบาลทุกรัฐบาล
องค์กรตระกูล ส. มีการเสนอให้ควบคุมการโฆษณาเหล้าเบียร์อย่างเข้มข้น เสนอให้กระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้จังหวัดจัดการตนเอง ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อสิทธิต่างๆ หนุนเสริมชุมชนต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เรียกร้องไม่ให้สนับสนุนการเจรจา FTA ที่เอาเรื่องสิทธิบัตรยาไปแลกเพื่อการค้าขาย สร้างความเข้มแข็งแก่คนฐานรากในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล คัดค้านการทำสุขภาพให้เป็นสินค้าเช่นนโยบายเมดิคัลฮับ นี่คือตัวอย่างเพียงบางส่วนที่เป็นเสมือนก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐบาลซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่ก้าวหน้าแต่ไม่ตรงใจรัฐบาล
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการจัดแถวองค์กรตระกูล ส.ให้เข้ามาอยู่ในการสั่งการของรัฐบาล โดยใช้วิธีการที่หลากหลายเช่น การเปลี่ยนคนที่สั่งได้มาเป็นคณะกรรมการบอร์ด การส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานโดยตรงด้วยการเป็นผู้นำหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ก็ได้กำหนดให้องค์กรตระกูล ส.หลายองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การควบคุมกำกับของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแม้ด้านหนึ่งเสมือนเพื่อการบูรณาการงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็คือการจัดแถวเพื่อการจำกัดบทบาทขององค์กรตระกูล ส. ไม่ให้ทำเรื่องที่ก้าวหน้าที่รัฐบาลไม่อยากทำหรือไม่ให้มาขวางนโยบายสีเทาที่รัฐบาลอยากทำ และเพื่อทำหมันการหนุนเสริมการเติบโตของภาคประชาชน
ทิศทางของการเป็นประชาธิปไตยต้องส่งเสริมการเติบโตขององค์กรอิสระและภาคประชาชน ไม่ใช่การจัดแถวเพื่อการกินรวบและการสั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพไทยถอยหลังลงคลอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 มีนาคม 2556
- 2 views