เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซอยศูนย์วิจัย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว "การจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง" ว่า จากการสำรวจการบริโภคเกลือของคนไทยโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า คนไทย บริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำ 2 เท่า หรือ 10.8 กรัม (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) สูงเป็น 2 เท่าของที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ที่ควรบริโภคไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ที่นิยมใช้มาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม
ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ยังพบว่าอาหารถุงปรุงสำเร็จ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815 -3,527 มิลลิกรัม เช่น ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง เป็นต้น ส่วนอาหารจานเดียว มีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อ 1 จาน อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น
"การรับประทานอาหารรสเค็มจัด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ จึงควรสร้างนิสัยการรับประทานอาหารอ่อนเค็ม เพื่อสุขภาพที่ดี เริ่มจากการการลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง จะช่วยคนไทยห่างไกลโรค" ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว และว่า การลดปริมาณโซเดียมที่รับประทานทำได้โดย หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรส ในการปรุงอาหาร, หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว เติมพริกน้ำปลาในข้าวแกง เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556
- 4 views