ย้ำ ปรับขึ้นค่าโรงหมอ ไม่ต้องชง ครม. อนุมัติ รมว.สาธารณสุข ระบุกระทรวงฯมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ยืนกรานประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมรักษาพยาบาลชาวต่างชาติ ด้าน รพ.ศิริราช เตรียมเพิ่มค่ารักษาพยาบาล 10% เผยที่ผ่านมาขาดทุนจาก บัตรทอง-ประกันสังคม รวมปีละกว่า 500 ล้านบาท เสนอแนวทาง "ร่วมจ่าย" เยียวยา รพ.ขาดทุน ขณะที่ กมธ.สธ. จวกรัฐบาล แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนะควรเพิ่มงบประมาณ ให้ "ศิริราชรามาฯ-จุฬาฯ" มากกว่า เพิ่มค่ารักษาพยาบาล
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการปรับอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 เพิ่มขึ้น ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีการนำเรื่องนี้ราย งานต่อที่ประชุม ครม. ในวันนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงฯทำได้เอง แม้เรามีการปรับปรุงเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานและการซื้อยาร่วมกัน ก็ช่วยลดต้นทุนค่ายารักษาโรคในปีนี้ได้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับการพัฒนากำลังคนที่ให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนในเรื่องกำลังคนลดลง แต่การปรับอัตราค่าบริการครั้งนี้เป็นเรื่องของค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้การปรับอัตราค่าบริการไม่ได้ทำให้ประชาชนต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนไม่ได้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้นเลย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เนื่องจากประชาชนอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ประกันสังคม หรือประชาชนทั่วไป ยกเว้นแต่เพียงคนที่จ่ายเงิน 30 บาทตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า แต่ผู้ที่ต้องจ่าย คือชาวต่างชาติ และประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามขั้นตอน จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ดังนั้นต้นทุนทุกอย่างเป็นต้นทุนภายในเท่านั้น และจะเป็นต้นทุนที่สะท้อนเพื่อใช้ในการคิดค่ารักษาพยาบาลของชาวต่างชาติในอนาคต เพราะทุกวันนี้ตามพรมแดนเราเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับชาวต่างชาติที่ข้ามแดนเข้ามา ปีละประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้เราจะมีการปรับปรุงวิธีคิดค่ารักษาพยาบาลชาวต่างชาติในลักษณะของค่าธรรมเนียมกับผู้ที่ข้ามแดนเข้ามา และอาจมีการหารือในกรอบอาเซียนด้วยว่าถ้าพลเมืองของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศข้ามแดนเข้ามาในไทยเพื่อเข้ามารับการรักษาพยาบาลจะทำอย่างไร นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งคณะกรรมการการไกล่เกลี่ยขึ้นมา ซึ่งจะเริ่มประชุมในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อจัดวางระบบการทำงาน ทั้งนี้ถ้าประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วเกิดปัญหาการคิดค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกต้อง ก็สามารถมาแจ้งต่อคณะกรรมการชุดนี้ได้
ด้าน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในส่วนของ รพ.ศิริราช ขอดูราคาของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศออกมาก่อน จากนั้นจะมาดูเป็นรายการเปรียบเทียบกัน ทั้งนี้ รพ.ศิริราชไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหากำไร การปรับค่าบริการคงเป็นบางรายการไม่ให้ขาดทุน แต่บางรายการก็เท่าเดิม ราคาค่ารักษาพยาบาลของ รพ.ศิริราช จะสูงกว่า รพ.กระทรวงสาธารณสุข เล็กน้อย เช่น ค่าคลอด รพ.ต่างจังหวัด ใช้แพทย์และพยาบาลอย่างละคน แต่ รพ.ศิริราช ใช้สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาลดูแล หรือมีพยาบาลดมยามาช่วย จะให้กำหนดราคาเดียวกันแล้วไปทำมาตรฐานแบบนั้นก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตามการปรับค่าบริการ ราคาต้องไม่เกินจริง และดูตามต้นทุน คิดว่าคงไม่เกิน 10% ซึ่งไม่ใช่เพิ่งมาทำเพราะนโยบาย 1.5 หมื่นบาท แต่เราทำมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะไม่ได้ปรับมาเป็น 10 ปี เพียงแต่มาประจวบเหมาะกันพอดี และถึงแม้จะเพิ่มค่าบริการ แต่ก็ยังต่ำกว่าเอกชนอยู่มาก ปกติค่าบริการจะห่างจาก รพ. เอกชน ไม่ต่ำกว่า 30% อยู่แล้ว รพ.เอกชนก็ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการเพิ่มค่าบริการด้วย ทั้งนี้การปรับค่าบริการใหม่ ของ รพ.ศิริราช คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จึงจะใช้ค่าบริการใหม่ได้
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวอีกว่า รพ. ศิริราช ขาดทุนจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 400-500 ล้านบาท เพราะกรณีผู้ป่วยใน แต่พออยู่ได้เพราะมีเงินบริจาค ส่วนประกันสังคมขาดทุนปีละกว่า 100 ล้านบาททุกปี ตกเดือนละ 10 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะการส่งต่อคนไข้หนัก ๆ มาให้ รพ.รักษา ยิ่งรับมากยิ่งขาดทุนมาก เพราะ รพ.รักษาทุกคนมาตรฐานเดียวกันไม่ว่ารวยหรือจน แต่ประกันสังคมไม่เคยช่วยทั้งที่มีเงินกองทุนเป็นหมื่นล้าน ซึ่งทางออกของการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน คือ การร่วมจ่าย โดยการร่วมจ่ายทำได้หลายแบบ เช่น อันไหนจำเป็นรัฐบาลจ่าย 75% คนไข้ 25% อันไหนไม่จำเป็นอยากได้คนไข้ต้องจ่าย 75% รัฐบาลจ่ายให้ 25% ดูตามความเหมาะสม
ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กระทรวงสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากที่ รพ.ศิริราช ออกมาโวย เพราะมีการขึ้นค่าแรงลูกจ้าง เป็นรายละ 300 บาท ทำให้ รพ.ศิริราช มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเนื่องจากมีลูกจ้างจำนวนมาก แบกรับภาระไม่ไหว แต่รัฐบาลกลับเลือกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารักษาพยาบาลอีก 10-15% ตนเองมองว่า ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะมีประชาชนบางกลุ่มที่มีเงินจำนวนไม่มาก แต่เลือกที่จะรักษาด้วยการเสียเงิน และไม่รับสิทธิตามบัตรต่าง ๆ เนื่องจากการอำนวยความสะดวกมีปัญหา ยุ่งยาก และรอนาน ไม่ได้รับการบริการที่ดี และเมื่อเปรียบเทียบราคายา ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มียาบางชนิดได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้จะไม่สูงมาก ยาบางชนิดได้ปรับราคาลง ทั้งนี้รัฐบาลไม่ควรเลือกการขึ้นค่ารักษาพยาบาล แต่ควรให้งบประมาณที่เพียงพอ กับ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี และรพ.จุฬาฯ ให้เพียงพอกับการบริหาร การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นการทำผิดวิธี เพราะปัญหาทุกอย่างจะตกอยู่กับประชาชน แพงทั้งแผ่นดิน และเชื่อว่า รพ. เอกชน ก็จะใช้จังหวะนี้ปรับขึ้นราคาค่ารักษาด้วยเช่นกัน
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การประกาศปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มองว่าเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามรัฐธรรม นูญ เพราะไม่มีการเปิดรับฟังความเห็นผู้บริโภค รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบ เครือข่ายผู้ป่วย เมื่อกระทรวงสาธารณสุขปรับ ค่ารักษาพยาบาลหมายความว่า จะทำให้การคิดค่ารักษาพยาบาลตามระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) เพิ่มขึ้น หากรัฐบาลมีการเพิ่มงบประมาณรายหัวเข้าสู่ระบบ ก็จะส่งผลกระทบต่องบประมาณประเทศมากขึ้น ในประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุข ควรมีการศึกษาและทำตัวเลขให้ชัดเจน นอกจากนี้ราคาค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นมาตรฐานราคากลาง ซึ่งการขยับขึ้นราคาอาจส่งผลให้ รพ.เอกชน มีการปรับค่ารักษาเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงอยากขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำการทบทวน และถอยกลับมาเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มกราคม 2556
- 430 views