"รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล" จัดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติที่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจะเดินทางมาเยือนศิริราช และให้เกียรติเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์พิเศษ ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม คณะแพทยศาสตร์ฯ และมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานเปิดตัว และให้การต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 ได้แก่ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ (NICE) ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์จาก สหราชอาณาจักร และ ดร.อูเซ เวโรนิกา อะมาซิโก อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา (APOC) รับรางวัลสาขาการสาธารณสุขจากประเทศไนจีเรีย
ทันทีที่มาถึง ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรอง ประธานมูลนิธิ พร้อมคณะให้การต้อนรับ และนำเข้าวางพวงมาลาถวายบังคมพระ ราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และนำแจกันดอกไม้ทูลเกล้าฯถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เซอร์ไมเคิลให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงก่อตั้งสถาบันไนซ์ขึ้น ตั้งแต่ปี 2542 ทำหน้าที่ ในการนำงานวิจัยมาใช้ให้คุ้มค่า ทั้งการจัดทำคู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ซึ่งมีผลในการกำหนดนโยบายต่างๆ ได้ ที่สำคัญยังทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะยาที่ผลิตขึ้นจากบริษัทยา ซึ่งต้องมีการประเมินว่าหากนำเข้ามาใช้จริงจะมีความคุ้มค่าในแง่งบประมาณ และประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงหรือไม่
อาทิ มีบริษัทยารายหนึ่งนำเข้ายาที่มีราคาแพง สถาบันวิเคราะห์พบว่า ไม่มีความคุ้มค่า บริษัทยาจึงรุดเข้าพบ โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ สุดท้ายอดีตผู้นำฯได้ชี้ขาดว่า ไนซ์ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว จึงควรทำตาม จากการตัดสินใจครั้งนั้นก่อให้เกิดการดูแล รักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า อีกทั้งยังนำไปเผยแพร่เป็นแม่แบบ และ ประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเทศ ไทย โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (HITAP) ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้ายกัน
ดร.อูเซกล่าวว่า ที่ผ่านมาโรคตาบอดจากพยาธิ เป็นปัญหาของชาวแอฟริกันจำนวนมาก ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ แต่จากการคมนาคมที่ไม่สะดวก ทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ APOC จึงหาหนทางพัฒนาการกระจายยา โดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการรักษา โดยผ่านอาสาสมัครในชุมชนเป็นผู้กระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิเอง ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการควบคุมโรค และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยพบว่า การดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้อุบัติการณ์โรคลดลง ประมาณการว่าภายในปี 2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ ปีละกว่า 40,000 ราย
ทั้งนี้ ดร.อูเซกล่าวยินดีกับรางวัลพระราชทานที่ได้รับ พร้อมทิ้งท้ายขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน "Long Live The King"
สำหรับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทน พระองค์ ในวันที่ 30 มกราคม เวลา 16.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 มกราคม 2556
- 4 views