ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา เป็นวันสิ้นสุดการยื่นพิสูจน์สัญชาติของแรงงานพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะเป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย
จึงมีปัญหาตามมาว่าแรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด ต้องถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง
จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน พบว่ามีแรงงานข้ามชาติถึง 311,102 คน ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,790,008 คน
ด้วยจำนวนตัวเลขที่สูงเช่นนี้ กระทรวงแรงงานจึงต้องขยายเวลาผ่อนผันการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติออกไปอีก 3 เดือน เพื่อออกเอกสารและดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้จะขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไป แต่จากการสำรวจข้อมูลของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ เกี่ยวกับกระบวนการยื่นพิสูจน์สัญชาติ พบว่ามีแรงงานที่ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติไปแล้วแต่ยังไม่ผ่าน และอยู่ในระหว่างดำเนินการ 11 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกลุ่มที่ยื่นไปแล้วยังไม่ผ่าน และยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ มี 19 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าตกใจคือมีแรงงานที่ยื่นดำเนินการขอพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต่างๆ ถึง 45 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้ศูนย์การศึกษาย้ายถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่แรงงานข้ามชาติได้รับ
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม สะท้อนว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายแรงงานข้ามชาติที่เกี่ยวกับแรงงานระดับล่างเลย ขณะที่นโยบายด้านความมั่นคง ยังยึดติดกระบวนทัศน์และวิธีคิด ที่มองคนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นมนุษย์ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งที่ตลาดแรงงานในประเทศไทยยังต้องการแรงงานเหล่านี้
อาจารย์กฤตยาชี้ว่า เราปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ และถ้าถามว่ารัฐบาลปฏิเสธเรื่องนี้ไหม รัฐบาลไม่เชิงปฏิเสธ แต่รัฐบาลยังก้ำกึ่งว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ทำให้แรงงานเหล่านี้เมื่ออยู่ในสถานะขึ้นทะเบียนทำให้พวกเขาเป็นกึ่งถูกกฎหมาย กึ่งผิดกฎหมาย เพราะเรายังถือว่าเขาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ แต่ได้อนุญาตทำงานชั่วคราวเท่านั้น
"กระบวนการเหล่านี้จะกลับไปสู่ปัญหาที่คนไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ จะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้าแรงงงาน และกระบวนการค้ามนุษย์ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐ แรงงานข้ามชาติ และคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง"
"อยากเสนอว่ารัฐบาลน่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องแรงงานระดับล่าง และต้องทำให้การนำเข้าแรงงาน ทั้งที่มีฝีมือ และไม่มีฝีมือเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ควรทำ ให้เป็น 2 มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีหรือไม่มีฝีมือ เมื่อ เข้ามาในประเทศไทยแล้วก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทุกประการ ทั้งในแง่ของสวัสดิการการรักษาพยาบาล เช่น เรื่องประกันสังคม" นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคมเสนอ
เช่นเดียวกับ นายแอนดี้ ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานย้ายถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ร่วมชี้ว่าตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3,000,000 คน คิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดแรงงานในประเทศไทย แต่เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้วที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว เขมร ไม่จัดระเบียบการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย แรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยถ้าไม่หลบหนีเข้าเมือง ก็ต้องพึ่งพาขบวนการค้ามนุษย์
แอนดี้เสนอว่า รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายที่ทำให้แรงงานทุกคนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ออกหนังสือเดินทางให้ทุกคน ส่วนนโยบายระยะยาวนั้นรัฐบาลต้องทำเรื่องการย้ายถิ่นที่เคารพสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงประเทศ
"เศรษฐกิจไทยเองก็ต้องการแรงงานข้ามชาติประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดแรงงาน ดังนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับในจุดนี้ว่าขาดแคลนแรงงาน และต้องวางแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่" ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานย้ายถิ่นร่วมให้ทางออก
ในตอนเย็นหลังเลิกงานภายในแคมป์ คนงานชาวไทยใหญ่ ที่ข้ามแม่น้ำและขุนเขา มาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นเพิงพักหลังเล็กๆ สร้างขึ้นจากสังกะสีเก่าๆ ดูคึกคักขึ้นทันตา เมื่อทุกคนในครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากัน
เด็กน้อยหลายคนจับกลุ่มวิ่งเล่นสนุก สนาน คนหนุ่มวัยฉกรรจ์รวมกลุ่มเตะฟุตบอลในสนามฝุ่น ขณะที่แม่บ้านต่างเดินเลือกซื้ออาหารเย็นบนแผงขายผักเล็กๆ ที่ตั้งอยู่หน้าแคมป์
ไทยใหญ่จำนวนมากเหล่านี้เดินทางมาขายแรงงานที่เมืองไทย เพียงหวังยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการเป็นเกษตรกรที่ประเทศบ้านเกิด
แต่ด้วยนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญชะตากรรมที่เลวร้าย บางคนถูกนายจ้างโกงค่าแรง บางคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากนายทุนหน้าเลือดและเจ้าหน้าที่รัฐ
นางปู อายุ 40 ปี แรงงานก่อสร้างชาวไทยใหญ่ เล่าถึงชะตากรรมว่า เข้ามาอยู่ประเทศ ไทยหลังปิดการจดทะเบียน ทร.38/1 (ใบขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า ลาว และกัมพูชา) ไปแล้ว ทำให้เป็นแรงงานที่ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย
ทำให้มีปัญหาตามมามากมาย ทั้งเรื่องค่าแรงที่ตอนนี้ได้เพียงวันละ 150 บาท แตกต่างจากคนที่ขึ้นทะเบียน ทร.38/1 ที่ได้ 200 บาท ทั้งที่ทำงานเหมือนกัน และเมื่อมีปัญหาก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ หากโชคร้ายเมื่อทำงานครบ 1 เดือนก็อาจไม่ได้ค่าแรง เพราะถูกนายจ้างโกง ทำให้ต้องเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ
"อยากให้รัฐบาลไทยเปิดจดทะเบียน ทร.38/1 อีกครั้ง เพื่อขยายเวลาให้แรงงานข้ามชาติที่ตกหล่นจากการสำรวจได้ขึ้นทะเบียนอีกครั้ง เพราะเมื่อได้ขึ้นทะเบียน ทร.38/1 แล้วสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย จะทำให้มีสิทธิต่างๆ ในการทำงานมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่"
แรงงานหญิงไทยใหญ่บอกอีกว่า นอกจากนี้ อยากให้หน่วยงานราชการของไทยประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม เพราะที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์มักกระจุกตัวอยู่แต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น
ส่วนนายบอย อายุ 25 ปี แรงงานหนุ่มชาวไทยใหญ่ ร่วมเล่าถึงปัญหาที่เผชิญว่า เคยจ่ายเงินให้นายจ้างในที่ทำงานเก่า เพื่อเป็นค่าดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย แต่เมื่อย้ายที่ทำงานโดยเข้าใจว่านายจ้างเก่าจะดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานตามเงินที่หักไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่านายจ้างเก่าไม่ไปต่อใบอนุญาตทำงานให้ ทำให้ต้องทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย
หนุ่มไทยใหญ่บอกว่า เมื่อไม่มีใบอนุญาตทำงานกระบวนการที่ต้องไปเริ่มเพื่อให้สามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายก็คือการขึ้นพิสูจน์สัญชาติ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
"แต่ผมมีลูกกำลังเล็ก จึงไม่สามารถหาเงินไปพิสูจน์สัญชาติ ได้ ส่งผลให้ประสบความยากลำบากในการทำงาน ไม่สามารถเลือกงานที่มีรายได้ดีเหมือนเมื่อตอนที่มีใบอนุญาตทำงานได้ ซ้ำร้าย เมื่อถูกนายจ้างโกงก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ชีวิตต้องอยู่อย่างยากลำบากกว่าเดิม" อีกเสียงสะท้อนของแรงงานข้ามชาติ
ขณะที่ น.ส.จ๋ามมล ชาวไทยใหญ่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ ให้ข้อมูลว่ามีแรงงานชาวไทยใหญ่จำนวนมากที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยผิดกฎหมาย จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่าแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญความยากลำบากในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่า คนทั่วไป
จ๋ามมลบอกด้วยว่า พวกเขาไม่ต้องการอยู่ในสภาพเช่นนี้ และต้องการขึ้นพิสูจน์สัญชาติและขอใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ด้วยกระบวนการยื่นพิสูจน์สัญชาติกับทางการไทย มีอุปสรรค และใช้เวลานาน ส่งผลให้แรงงานส่วนมากต้องหันไปพึ่งพากระบวน การนายหน้าในการเดินเรื่องพิสูจน์สัญชาติ ที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ 4-5 เท่า
"หากพวกเขาพิสูจน์สัญชาติกับทางการจะเสียเงินแค่ 1,600 บาท แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการนานถึง 6 เดือน พวกเขาจึงจำเป็นต้องไปพิสูจน์สัญชาติกับนายหน้าที่ใช้เวลาเพียงแค่ 20-60 วัน แต่เสียเงินมากถึง 4,900-5,500 บาท แล้วแต่บริษัทที่ดำเนินการ เงินจำนวนมากขนาดนี้บางคนทำงานเป็นปีก็ยังเก็บไม่ได้ เพราะรายได้ของพวกเขาแค่พอกินไปวันๆ เท่านั้น"
"ดังนั้น ถ้ารัฐปรับปรุงระบบการพิสูจน์สัญชาติให้รวดเร็ว ก็จะส่งผลดีกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งในแง่การอยู่ในประเทศไทยอย่าง ถูกกฎหมาย จะทำให้พวกเขาไม่ต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และการรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังส่งผลดีกับความมั่นคงของรัฐ ที่สามารถจัดการแรงงานเหล่านี้ให้อยู่ในระบบ และดูแลพวกเขาได้โดยง่าย" เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ เสนอวิธีแก้ปัญหา
ในคืนที่อากาศหนาวแผ่ปกคลุม แสงจันทร์สาดส่องรำไร คนงานภายในแคมป์เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ โดยไม่รู้ว่าเมื่อตื่นมาเช้าวันพรุ่งนี้ชะตากรรมคนขายแรงอย่างพวกเขาจะเป็นอย่างไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 28 มกราคม 2556
- 14 views