รีดเพิ่ม 2,700 รายการ สธ.เปิดอัตราค่าโรงหมอฉบับใหม่ ค่ายา-ผ่าตัดปรับเพิ่ม 15-21% ชี้เปลี่ยนหัวใจ-ปอดแพงสุด 64,000 บาท ส่วนปวดหัว-ตัวร้อน-เป็นไข้ โขกค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 50 เป็น 150 บาท แต่ยันยังถูกกว่า รพ.เอกชนอื้อ "รมว.สาธารณสุข" ระบุขึ้นค่าบริการไม่ได้ต้องการเอากำไร แถมไม่กระทบคนไทยเพราะมีสิทธิรักษาพยาบาล ยกเว้นชาวต่างชาติหรือผู้ต้องการจ่ายเงินเอง
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์"เดลินิวส์" กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะปรับอัตราค่าบริการของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัด สธ. ว่าการปรับค่าบริการคงสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ใช้สิทธิ การรักษาพยาบาล 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมอยู่แล้ว คนที่ไปใช้บริการไม่ต้องจ่ายเพราะรัฐบาลจ่ายให้หมด ดังนั้นค่าบริการตรงนี้จะใช้สำหรับคนที่ต้องจ่ายเงินเอง เช่น ชาวต่างชาติ คนที่ตั้งใจสละสิทธิไม่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลเช่น มีสิทธิ 30 บาทตามหลักต้องรักษาที่หน่วยบริการตามกำหนดแต่อยากจะไปโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลศิริราช
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับค่ายาเพิ่มขึ้น 15% ค่าผ่าตัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21% เหมาะสมหรือไม่นั้น อยากให้ลองคิดดูว่าเงินเฟ้อปีหนึ่งหลายเปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องเข้าใจว่าหน่วยราชการไม่ได้แสวงหากำไร อย่างไรก็ตามในตอนนี้ตัวเลขค่าบริการที่ปรับยังไม่ได้เสนอมาแต่คิดว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนต้นทุนจริงและมักจะต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย เพราะหน่วยราชการขึ้นค่าบริการคงไม่มีใครต้องการเอากำไร ดังนั้นตัวเลขที่ปรับไม่ได้มีผลต่อประชาชน ถ้ามาตามระบบทุกคนไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้ามาผิดระบบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยระบบคนไทยจะไม่เดือดร้อนไม่ว่าอยู่ในระบบไหน
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดสธ. กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้น่าจะนำเสนอค่าบริการของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัด สธ.ที่ปรับใหม่ ให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ลงนามและนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข ลงนามต่อไป "ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับประชาชน ทางกรมบัญชีกลางก็โอเค เดี๋ยวคงนั่งคุยกับกระทรวงว่าเมื่อเรามีรายการค่าใช้จ่ายออกมาแล้วทางกรมบัญชีกลางจะปรับให้สธ.หรือไม่ เพราะค่าบริการเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2547 อย่างไรก็ตามยืนยันว่าอัตราค่าบริการที่ปรับใหม่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องค่าจ้าง 300 บาท หรือเงินเดือน 15,000 บาท เพราะ สธ.ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว" รองปลัดสธ. กล่าว
นพ.วัฒน์ชัย จรูญวรรธนะ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานสาธารณสุข สำนักบริหารการสาธารณสุข (สบรส.) กล่าวว่า เหตุผลในการปรับค่าบริการเพราะไม่ได้ปรับมานานแล้ว อัตราค่าบริการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเล่มแดงใช้มาตั้งแต่ปี2547 สำหรับการคำนวณอัตราค่าบริการใหม่จะคิดจากต้นทุน คือ ค่าแรง ค่าวัสดุ เมื่อเงินเดือนขึ้น ค่าตอบแทนขึ้นก็ต้องปรับอัตราค่าบริการ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังให้บริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมมีประมาณ 2,000 รายการ พอทำใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 2,700 รายการ ทั้งนี้พอมีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นทำให้โรงพยาบาล ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนต่าง ๆ ได้ เช่น กองทุนสวัสดิการข้าราชการจะระบุเลยว่ามีรายการอะไรเบิกได้ ช่วงที่ผ่านมาการให้บริการอะไรใหม่ ๆ จึงไม่สามารถเบิกได้เลย เช่น การให้บริการด้านแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก การฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นต้น
นพ.วัฒน์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับราคายานั้น โดยรวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ส่วนค่าผ่าตัดทุกอย่างโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 21% การผ่าตัดมีทั้งหมดประมาณ 1,190 รายการ ราคาเท่าเดิมมี 199 รายการ ลดลง 11 รายการ ส่วนรายการที่เพิ่มขึ้นมี 978 รายการ สำหรับอัตราค่าบริการที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ได้มีการเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งยังถูกกว่ามาก เช่น ราคาค่าผ่าตัดเปลี่ยนปอด เปลี่ยนหัวใจ อัตราถือว่าเป็นการผ่าตัดที่มีราคาสูงสุดในรายการผ่าตัดทั้งหมด ทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ อยู่ที่ 64,000 บาท จากเดิม 45,000 บาท เปลี่ยนตับเพิ่มเป็น 54,500 บาท เปลี่ยนลิ้นหัวใจ 46,000 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ 44,500 บาท
นพ.วัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า การผ่าตัดไส้ติ่งเดิม 4,000 บาทเพิ่มเป็น 4,500 บาท ผ่าท้องคลอดเดิมประมาณ 5,500 บาทเพิ่มเป็น 7,000 บาท คลอดธรรมชาติจากเดิม 1,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 บาท สำหรับค่ารักษาพยาบาลทั่วไปเช่น เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน มีการปรับเพิ่มนิดหน่อย จากเดิมค่าธรรมเนียมแพทย์ 50 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 150 บาท แต่ในโรงพยาบาลรัฐบาลไม่ได้ให้แพทย์โดยตรง เงินดังกล่าวจะเป็นเงินบำรุงของโรงพยาบาล ในขณะที่บางรายการก็ปรับลดลง เช่น ค่าตรวจแล็บบางตัว พอเทคโนโลยีออกมาแรก ๆ มีราคาแพงแต่พอใช้ไปสักพักราคาถูกลง ถ้าจะกระทบก็คงเป็นต่างชาติ หรือคนไทยบางกลุ่มที่ไม่ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค อย่างไรก็ตามในการปรับอัตราค่าบริการตรงนี้มีการเชิญตัวแทนทุกภาคส่วน รวมทั้งตัวแทนสมาคม โรงพยาบาลเอกชนมาร่วมด้วยเพื่อให้รอบด้าน ก็ให้ความเห็นว่าแม้เราจะปรับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าเอกชนอยู่มาก
"เดิมอัตราค่าบริการเล่มแดงที่ใช้ปี 2547 จนถึงปัจจุบันไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงพยาบาลอัตราค่าบริการที่กำลังจะออกมาใหม่นี้ทางกลุ่มกฎหมายแนะนำว่าควรประกาศเพราะมีผลกระทบกับประชาชนถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย เราก็ทำตามคำแนะนำ ผมคิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบคิดว่าน้อยมากหากคิดว่าแพงก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่สังกัดได้ ถึงอย่างไรก็ไม่เป็นภาระกับคนไข้ เพราะทุกคนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว" นพ.วัฒน์ชัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 มกราคม 2556
- 5 views