โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเตรียมหารือปรับแก้ค่าตอบแทนแพทย์ หมอชนบทเสนอ จ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติ งานมากควรได้เงินมาก
เมื่อวันที่ 21 มกราคม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 มกราคมนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการประชุมแนวทางการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งหากมีการปรับแก้ในเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างพื้นที่ใดไม่ได้อยู่ในถิ่นทุรกันดารแล้ว ก็ไม่ควรได้รับค่าตอบแทนที่สูง แต่หากยังอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ หรือพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ควรได้ในอัตราเดิม ซึ่งในส่วนนี้มีบางกลุ่มออกมาคัดค้านว่า โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ควรปรับลดอัตราค่าตอบแทนลงนั้น เช่นโรงพยาบาลชุมชนบางบัวทอง ในความเป็นจริงโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาดเล็กเพียง 60 เตียง มีแพทย์ 7-8 คน แต่ต้องให้บริการประชากรถึง 2-3 แสนคน ซึ่งเป็นภาระหนัก
นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า หากจะมีการปรับลดอัตราค่าตอบแทนตามพื้นที่ของโรงพยาบาลบางบัวทอง อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเสนอ สธ.ให้ยกระดับโรงพยาบาลบางบัวทองจาก รพช.ขนาดเล็ก เป็น รพช.ขนาดใหญ่ 150-200 เตียง เพื่อรองรับกับประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อประโยชน์ในแง่การให้บริการมากกว่า นอกจากนี้ สธ.จะมีการหารือในเรื่องค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับภาระงาน หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานคือ ทำงานมากได้รับเงินมาก เรื่องนี้ชมรมแพทย์ชนบทเห็นด้วย แต่ขอให้แยกออกจากค่าตอบแทนเชิงพื้นที่ เนื่องจากคนละส่วน เพราะหากมีการปรับค่าตอบแทนเชิงพื้นที่จะทำให้แพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือสามจังหวัดชายแดนใต้ หมดกำลังใจ และไหลออกจนหมด
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในวันที่ 24 มกราคมนี้ จะมีการประชุมประจำปีของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ จะมีการหารือในประเด็นการปรับแก้ค่าตอบแทนในภาพรวม และจะมีการทำประชามติเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเสนอ สธ.ต่อไป
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า สพศท.จะมีการประชุมใหญ่ประจำปีในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะหารือในเรื่องค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข เนื่องจากทุกวันนี้การคำนวณอัตราค่าตอบแทน อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในบางพื้นที่ อย่างบางพื้นที่ไม่ได้อยู่ในที่ทุรกันดาร เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กก็ควรจะปรับอัตราค่าตอบแทนไม่ให้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับแพทย์ พยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกลุ่มนี้หากได้รับอัตราค่าตอบแทนสูงถึงแสนบาท สพศท.ก็ไม่เคยคัดค้าน แต่ในบางกลุ่มไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขนาดนั้น ได้มากถึงเดือนละ 50,000 ก็มากเกินไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 มกราคม 2556
- 36 views