สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดลุกลามในสหรัฐอเมริกา ล่าสุดได้เลยผ่าน 'จุดเลวร้าย' ที่สุดไปแล้ว หลังจาก พบผู้ป่วยทั่วประเทศในเกือบ 50 รัฐ แต่ ที่สาหัสคือ รัฐแมสซาชูเส็ตส์ กับ รัฐนิวยอร์ก ล่าสุด สภาวะต่างๆ เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางมาตรการให้วัคซีน-เฝ้าระวัง ประกอบกับเชื้อที่ระบาดไม่ใช่สายพันธุ์อันตราย
สำหรับผลกระทบ รวมถึงภาวะไข้หวัดใหญ่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่งนั้น น่าหวั่นวิตกหรือไม่ ขนาดไหน...ความพร้อมรับมือเป็นเช่นไร ผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบและผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเอาไว้ดังนี้
หวัดใหญ่คร่าเด็กมะกัน 20 ราย
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เคลียร์ข้อกังขาต่างๆ เมื่อ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยได้รับการเจาะเลือดและผลตรวจยืนยัน พบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ 28,000 กว่าราย มีเด็กเสียชีวิต 20 ราย มีทั้งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) หรือไข้หวัด 2009 ที่ขณะนี้เชื้อได้กลายเป็นเชื้อที่พบได้ตามฤดูกาลไปแล้ว รวมถึงสายพันธุ์เอช 3 เอ็น 2 (H3N2) และชนิดบี ซึ่งพบมาก สาเหตุที่เกิดการระบาดตามฤดู กาลเร็วขึ้น เนื่องจากอากาศหนาว เย็นเร็วกว่าปกติ ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
คาดระบาดในไทยกลางปี
สำหรับประเทศในเขตร้อน เช่น 'ไทย' การระบาดมักจะเริ่ม 'กลางปี' ซึ่งเป็น 'ฤดูฝน' เป็นต้นไป และยังไม่มีหลักฐานสรุปว่าจะเข้าสู่ฤดูกาลระบาดเร็วกว่าปกติ
แต่คาดการณ์ว่าในปี '56 อาจจะเข้าสู่ฤดูกาลระบาดเร็วกว่าปกติ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใด นอกจากนี้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในฤดูกาลระบาดของไทยเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันกับอเมริกา
"ขอย้ำว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่เหล่านี้เป็นเชื้อที่เกิดขึ้น ทุกปีอยู่แล้ว ไม่ใช่เชื้อชนิดใหม่ ทั้งชนิดเอและบีเป็นเชื้อที่ไม่มีความรุนแรงมากกว่าปกติ และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ เพราะตามปกติเชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อใหม่เหมือนในปี 2009
"โดยในปี 2555 ไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 60,000 กว่าราย ตลอดช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การเสียชีวิตน้อย ปีละไม่ถึง 10 ราย ส่วนอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ อากาศหนาวเย็น จึงติดเชื้อได้ง่าย จำนวนผู้ป่วยจึงมีมาก" รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าว
รับมือได้-ยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
นพ.ประดิษฐระบุว่า การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ขอให้ยึดหลัก"กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ทำให้สม่ำเสมอ เป็นนิสัย เพราะเชื้อจะติดทางการไอ จาม และจากการสัมผัสละอองเสมหะ-น้ำลายของผู้ป่วย
สำหรับการฉีดวัคซีนขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคน เพราะสถานการณ์การระบาดโรคนี้ในไทยอยู่ในขั้นไม่รุนแรง อาการป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงมาก และมียาต้านไวรัส 'โอเซลทามิเวียร์' ที่รักษาได้ผลดี กลุ่มที่มีความจำเป็นและควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมี 2 กลุ่ม คือ
1.บุคลากรการแพทย์ประมาณ 4 แสนคน เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยและอาจนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่นได้มาก
และ 2.กลุ่มเสี่ยง ที่หากป่วยแล้วจะมีความเสี่ยงอาการรุนแรง เกิดโรคแทรกซ้อน โอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวในปีที่ผ่านมาได้ฉีดไปแล้วกว่า 3 ล้านโดส ตั้งแต่มิถุนายนตุลาคม 2555ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ 1 ปี จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนในปีนี้ให้เร็วขึ้น เพราะยังมีภูมิคุ้มกันเดิมอยู่ พร้อมมอบให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวัง และประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด
สร้างโรงงานผลิตเอาไว้ใช้เอง
แม้สายพันธุ์ย่อยของไข้หวัดใหญ่ เอช 3 เอ็น 2 จะไม่ตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วัคซีนเดิมที่ไทยมีอยู่ยังให้ผลดีในการลดความรุนแรงของอาการป่วยไข้หวัดใหญ่ได้
โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในปี 2556 ให้แก่ 2 กลุ่มเสี่ยงประมาณ เดือนพฤษภาคม รวม 3 ล้านกว่าโดส ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยงฟรีตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ส่วนการผลิตวัคซีนชนิดนี้ในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้าและสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไว้ใช้ในประเทศได้เอง ลดการพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ
ปัจจุบัน 'องค์การอนามัยโลก' ยังไม่มีคำเตือนหรือจำกัดการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นการระบาดตามฤดูกาลของสหรัฐอเมริกา ประชาชนสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปอยู่ในสถานที่แออัดเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ส่วนผู้ที่กลับจากต่างประเทศหากป่วยเป็นไข้ 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยละเอียด
"หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" เจ้ากระทรวง สธ.ระบุ
ชี้ปมเชื้อลามหนักในสหรัฐ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชี้ว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐครั้งนี้เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปเล็กน้อย ทำให้มีการเสียชีวิตในผู้ป่วยเด็กในอัตราเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล วัคซีนในปีก่อนๆ คือ พ.ศ.2555 หรือฤดูกาล 2012 ไม่สามารถป้องกันได้ จึงเกิดระบาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในฤดูกาลหน้าหนาวของประเทศซีกโลกเหนือในฤดูกาล 2012-2013 สามารถป้องกันได้ การฉีดวัคซีนต้องมีการครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 50 จึงจะป้องกันการระบาดใหญ่ได้
ส่วนประเทศไทยไข้หวัดใหญ่ได้ระบาดใหญ่ไปแล้วในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา เป็นสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ และชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับการระบาดในสหรัฐอเมริกา
"การป้องกันนอกจากกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือแล้ว การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนจึง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยลดการระบาดใหญ่ในประเทศไทยลงได้" ศ.นพ.ยงแนะนำ
เปลี่ยนแปลง-แต่ไม่ได้กลายพันธุ์
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์การระบาดทุกปีตามวงรอบของเชื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการ 'กลายพันธุ์' ต้องทำวัคซีนให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่จะระบาดในแต่ละปี ซึ่งนักระบาดวิทยาจะคำนวณเพื่อฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามสายพันธุ์
วัคซีนที่ฉีดแต่ละครั้งจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 1 ปี และต้องเว้นระยะเวลา 6 เดือนจึงจะฉีดวัคซีนได้ใหม่ โดยในปี 2555 ประเทศไทยใช้วัคซีนป้องกัน 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ชนิดบี, เอช 1 เอ็น 1 และเอช 3 เอ็น 2 ซึ่งเปลี่ยนจากสายพันธุ์ย่อยเพิร์ธเป็นวิกตอเรีย อันเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ไทยไม่ประมาท-สำรองยา 3 ล้านโดส
วงรอบการฉีดวัคซีนของไทยจะฉีดในเดือนก.ค.-ก.ย.2556 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่ประเทศไทยพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มใหญ่ คือ บุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น โรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ยังไม่มีความจำเป็น แต่จะพิจารณาเป็นรายบุคคล อาจเตรียมไว้ประมาณ 2-3 ล้านโดส
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องแห่ไปฉีดวัคซีนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนที่มีราคาแพง เป็นการสิ้นเปลือง ทางที่ดีควรป้องกันตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่ไปในที่แออัดและสวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย
"มาตรการเตรียมความพร้อมของไทยมี 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เฝ้าระวังผ่านเครือข่ายนานาชาติที่มีการเชื่อม โยงข้อมูลร่วมกัน 2.ผ่านเครือข่ายศูนย์ควบคุมและ ป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซี ที่ประเทศไทย มีการ เฝ้าระวังเรื่องสายพันธุ์ร่วมกัน และ 3.ด่านควบคุมโรค มีการติดตามอาการจากภายนอกเป็นหลัก แต่ไม่จำเป็น ต้องใช้เครื่องตรวจจับความร้อน เนื่องจากบางครั้งผู้ที่ ติดเชื้ออยู่ในระยะฟักตัว ยังไม่แสดงอาการ"นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ผอ.สำนักโรคติดต่อชี้ไม่ต้องแตกตื่น
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ระบุว่าไทยมีความร่วมมือกับสหรัฐภายใต้ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) ซึ่งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเรื่องการระบาดโดยตลอด การประกาศภาวะฉุกเฉินใน 2 รัฐของสหรัฐ (แมสซาชูเส็ตส์, นิวยอร์ก) สาเหตุเพราะต้องการให้สถานการณ์โรคสงบโดยเร็ว
รวมถึงปลุกให้เกิดความตื่นตัวทางด้านสาธารณสุขและประชาชน เมื่อเจ็บป่วยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว แต่เมื่อพิจารณาตัวเชื้อนั้นไม่พบว่ากลายพันธุ์และเป็น การระบาดตามฤดูกาล ทำให้อนามัยโลกไม่ได้ประกาศมาตรการพิเศษสำหรับ ประเทศ อื่นๆ และไม่มีมาตรการพิเศษเฝ้าระวังการเดินทางระหว่างประเทศ ฉะนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ทุกวันนี้โรคไข้หวัดใหญ่มียารักษา!
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 6 views