กรณีที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช3 เอ็น2 (H3N2)ในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐ หรือซีดีซี ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2555-วันที่ 5 มกราคม 2556 พบผู้ป่วยที่มีผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จำนวน 28,747 ราย มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 20 ราย ในผู้ป่วยทั้งหมดนี้ จำแนกเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H3N2 มากที่สุดร้อยละ 49.8 หรือประมาณ 14,224 ราย รองลงมาเป็น ไข้หวัดใหญ่ชนิด A ไม่ระบุสายพันธุ์ย่อย ร้อยละ 27.45 หรือ 7,892 ราย สายพันธุ์ B ร้อยละ 22.18 หรือ 6,395 ราย และชนิด H1N1 หรือ ไข้หวัดใหญ่ 2009 อีกร้อยละ 0.89 หรือ 256 ราย โดยเมืองนิวยอร์กมีผู้ป่วยมากที่สุด แต่จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่ประกาศกีดกันการเดินทางจากสหรัฐเข้าประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีการประกาศขององค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม นพ. ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไข้หวัดใหญ่ที่พบในสหรัฐเป็นสายพันธุ์ย่อยวิคตอเรีย หรือ A/Victoria/361/2011-like ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ H3N2 สายพันธุ์ย่อย เพิร์ธหรือ A/Perth/16/2009 และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่าประเทศไทยเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ย่อยเดียวกับสหรัฐ ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ต้องกังวล ในส่วนของผู้ที่จะเดินทางไปสหรัฐก็ไม่ควรวิตก เนื่องจากมีการระบาดในบางรัฐเท่านั้น ที่สำคัญหากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว หรือโรคภูมิแพ้ ก็ไม่ต้องกังวล และไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด แต่เพื่อความสบายใจ เบื้องต้นประเทศไทยได้สำรองวัคซีนสายพันธุ์ย่อยเดียวกับสหรัฐแล้ว 1 แสนโดส ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากสหรัฐ หากมีอาการต้องสงสัย เป็นไข้ ตัวร้อน สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับยาโอเซลทามิเวียร์ที่จะใช้ในการรักษากรณีป่วย ซึ่งขณะนี้มีสำรองไว้ 4 แสนเม็ด
นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยงแล้ว 3 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ใน 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ คือ ชนิดบี, H3N2 และ H1N1 อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อยของไข้หวัดใหญ่จะหมุนเวียนกันไปในแต่ละแห่ง ดังนั้น หากประเทศไทยจะพบสายพันธุ์ย่อยเดียวกับสหรัฐ คาดว่ากว่าจะแพร่ระบาดจากซีกโลกเหนือจะเข้ามาไทย น่าจะช่วงกลางปีนี้ และความรุนแรงจะไม่แตกต่างกัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ย่อยของไข้หวัดใหญ่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงตามวงรอบของเชื้อทุกๆ ปี ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ในการฉีดวัคซีนจะได้ชนิดที่สอดคล้องกับเชื้อที่ระบาดในแต่ละปี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 1 ปี จากนั้นจะต้องเว้นระยะ 6 เดือน จึงจะฉีดวัคซีนได้ใหม่ โดยในปี 2555 ประเทศไทยใช้วัคซีนป้องกัน 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ชนิดบี, H1N1 และ H3N2 สายพันธุ์ย่อยเพิร์ธ และปีนี้ยังคงเป็นวัคซีน 3 สายพันธุ์ แต่เปลี่ยนจาก H3N2 สายพันธุ์ย่อยเพิร์ธ เป็นสายพันธุ์ย่อยวิคตอเรียแทน
"สำหรับวัคซีน 3 สายพันธุ์ ประมาณ 2-3 ล้านโดส ที่เตรียมฉีดในปีนี้นั้น เบื้องต้นจะฉีดช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่ประเทศไทยมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ยังไม่มีความจำเป็น แต่จะพิจารณาเป็นรายบุคคล"นพ.สุวรรณชัยกล่าว
จากระบบรายงานการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตลอดปี 2555 พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 61,296 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2555 จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปกติ และข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-5 มกราคม 2556 พบผู้ป่วย 144 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นคำตอบเดียวในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ หากแต่การป้องกันตนเองด้วยหลักปฏิบัติ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ไม่ไปในที่แออัด และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการหลีกเลี่ยงการป่วยด้วยโรคดังกล่าวได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 มกราคม 2556
- 2 views