สพฉ.เดินหน้าวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ ประสานชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น รายงานสาเหตุเพิ่ม หวังลดอุบัติเหตุ และอัตราการบาดเจ็บ เสียชีวิต พบจักรยานยนต์เสี่ยงสุด ไม่สวมหมวกกันน็อกเกือบครึ่ง เผยผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยทีมกู้ชีพที่ถูกวิธีผ่านสายด่วน 1669 มีอัตรารอดชีวิตถึงร้อยละ 96.76
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบให้ สพฉ.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 เพื่อนำมาปรับปรุงการป้องกันและลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตทาง สพฉ. ได้จัดประชุมเพื่อหาแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติจากที่เกิดเหตุแล้ว
"เบื้องต้นได้ประสานให้ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครมูลนิธิ หรือทีมกู้ชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเก็บข้อมูล เนื่องจากเป็นทีมกู้ชีพที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุเป็นทีมแรก ประกอบกับจะนำข้อมูลที่ได้จากศูนย์สื่อสารและสั่งการ 1669 มาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในประเด็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เมาสุรา หลับใน หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก การนั่งท้ายรถกระบะ หรือปัญหาถุงลมนิรภัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต จะลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ลดลงตามเป้าที่ต้องการ โดยเฉพาะในวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นช่วงที่มีการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิต เพิ่มเป็นเท่าตัว ดังนั้น สพฉ.จะต้องหาแนวทางพัฒนาในประเด็นนี้ต่อไป
"นอกจากนี้ ยังมีสถิติที่น่าสนใจคือ เห็นได้ชัดว่า ผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือจากการโทรแจ้งสายด่วน 1669 จะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 96.76 เพราะการช่วยเหลือ และเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บที่ถูกวิธี จะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บที่รุนแรงขึ้น หรือช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตนั้น ส่วนหนึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 53.50 ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ สพฉ. ที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อจากนี้ คือ เร่งรณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการจากสายด่วน 1669 มากขึ้น" นพ.ประจักษวิช กล่าว
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view