ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เผยปี 2556 เฝ้าระวัง 'โรคจากสัตว์สู่คน' ทั้งนกแมว-สุนัข ชี้เปิดเออีซีหวั่น 'หัด-โปลิโอ-หัดเยอรมัน-ไอกรน-คางทูม-ไข้กาฬหลังแอ่น' ระบาดซ้ำ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง โรคติดต่ออุบัติใหม่ : ความท้าทายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า จากการติดตามโรคต่างๆ พบว่าร้อยละ 70 เป็นการติดจากสัตว์สู่คน ซึ่งโรคของสัตว์ที่มีศักยภาพแพร่สู่คนพบ 271 โรค อาทิ นก 15 โรค แมว 34 โรค สุนัข 47 โรค ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่างๆ 37 โรค ฯลฯ สำหรับปีนี้ โรคจากสัตว์สู่คนที่ควรเฝ้าระวัง คือ โรคโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ 2012 ซึ่งพบการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ป่วยทั่วโลก 9 ราย เสียชีวิต 5 ราย จากการสอบสวนโรค มีข้อสงสัยว่าติดเชื้อจากค้างคาว เพราะจากการเฝ้าระวังห้องไอซียูที่ผู้ป่วยพักรักษาตัว รวมถึงแพทย์ พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาไม่พบการติดเชื้อชนิดนี้ จึงสันนิษฐานว่าอาจมีแนวโน้มติดต่อจากสัตว์มากกว่า ที่สำคัญโคโรน่าไวรัสมีลักษณะเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์ส ซึ่งพบติดจากค้างคาวเช่นกัน
"ประเทศไทยได้เฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบียกว่าหมื่นคน หลังจากเดินทางกลับมาแม้จะไม่พบการติดเชื้อชนิดนี้ แต่พบว่ามีการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจถึง 10 ราย จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญเมื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 การเดินทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคคอตีบ ที่หายไปจากประเทศไทย 20 ปี แต่กลับพบอีกครั้ง สันนิษฐานว่าอาจมาจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจพบอีก ได้แก่ หัด โปลิโอ หัดเยอรมัน ไอกรน คางทูม และไข้กาฬหลังแอ่น" ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการสุ่มตรวจระดับภูมิคุ้มกันของคนไทยในกรุงเทพมหานคร และ จ.หนองบัวลำภู ประมาณ 500 คน เบื้องต้นพบว่า ประชากรไทยกลุ่มอายุ 20-50 ปี เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันโรคคอตีบน้อย เพราะเติบโตมาในช่วงที่วัคซีนคอตีบยังไม่ถูกบรรจุให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน ประกอบกับปัจจุบันเชื้อในธรรมชาติน้อย ทำให้ไม่ถูกกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คาดว่าผลสำรวจจะชัดเจนในเดือนมกราคมนี้ จากนั้นจะทำการสุ่มตรวจพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ต่อไป เพื่อนำข้อสรุปไปวางแผนกำหนดการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ใหญ่ จากปัจจุบันฉีดให้เด็กตั้งแต่ 2 เดือน - 12 ปี เพื่อให้การป้องกันครอบคลุมยิ่งขึ้น คาดว่าจะกำหนดช่วงอายุตั้งแต่ 20-50 ปี รวมทั้งจะฉีดให้กลุ่มที่เคยรับตั้งแต่พื้นฐาน เพราะพบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะลดลงตามระยะเวลา 10 ปี จึงจะฉีดใหม่ คาดว่าจะใช้วัคซีนราว 30-40 ล้านโดสๆ ละ 6-7 บาท
--มติชน ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 37 views