ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองได้ไม่นาน ในแวดวงสาธารณสุขก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลต่อระบบสุขภาพในอนาคต...
เริ่มศักราชด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.อีก 2 อัตรา จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 อัตรา งานนี้ทั้งฟากการเมืองและเลขาธิการ สปสช. ให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มโดยอำนาจของเลขาธิการ สปสช. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นการแบ่งเบาภาระงานของ สปสช. โดยเฉพาะระบบการเบิกจ่ายกลาง หรือระบบเคลียริ่งเฮาส์ (Clearing house) ตามนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ที่ต้องมีผู้ดูแลเฉพาะ
แต่กรณีนี้ถูกภาคประชาสังคมชนคัดค้านว่า อาจมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เพราะ 1 ใน 2 รองเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ที่จะมีการสรรหาในวันที่ 14 มกราคมนี้ จะมีการดึงคนนอกเข้าไปบริหาร ซึ่งขณะนี้มีชื่อของ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคไทยรักไทย และ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เป็นแคนดิเดต ส่วนอีก 1 ตำแหน่ง เป็นคนใน สปสช.แน่นอน
การขับเคลื่อนนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการบริการด้านสาธารณสุข
แต่จะจริงหรือไม่! เพราะเมื่อย้อนดูนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 พฤศจิกายน 2555 มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 12,845 ราย พบว่าผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 43.5 หรือ 5,590 ราย ของข้าราชการกว่า 5 ล้านคน ขณะที่สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีจำนวน 5,912 ราย คิดเป็นร้อยละ 46 ของผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน ส่วนสิทธิประกันสังคม จำนวน 910 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของผู้มีสิทธิราว 10 ล้านคนเท่านั้น
แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตว่า แม้นโยบายดังกล่าวจะเป็นเรื่องดีในแง่ช่วยชีวิต แต่เมื่อดูตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกลับพบว่า ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีสัดส่วนโดยรวมน้อยกว่า แต่กลับเข้าถึงมาก นั่นเพราะระบบไม่เอื้อต่อผู้มีรายได้ต่ำ กล่าวคือ การเบิกจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลในจำนวน 10,500 บาท ต่อความรุนแรงของกลุ่มโรคนั้น อาจไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีการคิดเพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่า ผู้มีรายได้ย่อมไม่มีปัญหา และไม่มีการร้องเรียน แต่ผู้มีรายได้ต่ำและไม่อยากมีปัญหากับโรงพยาบาลก็เลือกวิธีไม่ใช้บริการ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อน และหากมีการขยายสิทธิไปยังผู้ป่วยมะเร็งอีก จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้
แหล่งข่าวรายเดิมวิเคราะห์อีกว่า การเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช. หรือทุ่มไปกับนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ มีนัยยะอื่นๆ หรือไม่ เพราะขณะนี้มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลต้องการปฏิรูประบบสุขภาพ เป็น 2 ส่วนคือ ตลาดบนและตลาดทั่วไป โดย "ตลาดบน" เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า สนับสนุนนโยบายที่เอื้อกับเอกชน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการให้บริการผู้ป่วยจากภายนอกประเทศ ส่วน "ตลาดทั่วไป" ที่พยายามเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงพยาบาลในสังกัด สธ. โดยจัดกลุ่มงานเป็น 12 เขตพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการบริหารและเน้นการส่งเสริมสุขภาพ
"การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงพยาบาลรัฐ ต้องถามว่าทำได้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะหากรัฐบาลมีธงขับเคลื่อนภาคเอกชน โดยนำด้านการบริการสุขภาพสู่ตลาดเสรี สุดท้ายจะเกิดปัญหากับตลาดทั่วไป หากทุ่มกับการบริการสุขภาพสู่ตลาดเสรี ก็ต้องทุ่มกับภาคเอกชน และจะเกิดปัญหาแพทย์และพยาบาลไหลสู่โรงพยาบาลเอกชน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐจะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ กลายเป็นระบบอนาถา และเชื่อว่าจะมีปัญหาการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้" แหล่งข่าวกล่าว
หากเป็นจริง เมื่อรัฐบาลเดินหน้าตลาดสุขภาพแบบเสรี ภาคเอกชนจะเข้มแข็งขึ้น โรงพยาบาลรัฐจะอ่อนแอลง เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์จะไหลออกนอกระบบ เพราะค่าตอบแทนสูง ประเด็นการเพิ่มรองเลขาธิการ สปสช.อาจสะเทือนถึงการทำงานของบอร์ดสปสช. ที่เดิมจะทำหน้าที่ซื้อบริการผ่านเงินเหมาจ่ายรายหัว โดยยึดสิทธิประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่หากมีการแทรกแซงอาจมีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยเน้นการควบคุมค่าใช้จ่าย การทำงานจะมุ่งไปที่ผู้ให้บริการมากขึ้น
อดวิตกไม่ได้ว่า ข้อห่วงใยดังกล่าวจะเป็นจริง...
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 มกราคม 2556
- 4 views