"การไม่มีโรคเป็นลาภอันประ เสริฐ" วลีสั้นๆ ที่จริงเสมอเรื่อง "สุขภาพ" ถือเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้ เพราะเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิต จึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองอย่างดี
ช่วงปีที่ผ่านมา มีประเด็นเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ จากเชื้อที่เกิดใหม่ และเชื้อเก่าที่เวียนกลับมาระบาด และยังพบประเด็นสุขภาพจากทั้งพฤติกรรมผิดๆ ความเข้าใจ ความเชื่อผิดๆ ด้วยหวังว่าจะมีสุขภาพดีทางลัด จนทำให้เกิดการเจ็บป่วยแบบแปลกๆ อีกจำนวนมาก
การเกิดโรคอุบัติใหม่ และ โรคอุบัติซ้ำ สองคำนี้เชื่อว่าจะต้องได้ยินไปอีกนาน เพราะทางการระบาดจะแยกลักษณะของโรคไว้เพื่อการบ่งชี้สถานการณ์และเลือกใช้มาตรการการเฝ้าระวังโรค สิ่งสำคัญ คือห้ามเกิดโรค-ทำไม่ได้ แต่ป้องกันได้ ด้วยการ "ตระหนัก" ไม่ใช่เพียง "ตระหนก" แบบที่เราๆ ท่านๆ ทำเป็นประจำ
แล้วอะไรบ้างเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อไม่ตระหนกกันจนเกินเหตุใหญ่ อาหาร เป็นพิษ ส่วนโรคระบาด อาจเกิดขึ้นบ่อยหรือนานๆ ครั้ง แต่ก็ขึ้นกับสภาพอากาศและอีกหลายปัจจัย
เมื่อดูประเภทของโรค โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดขึ้นและมีอยู่ตลอดเวลา เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง วัณโรค อุจจาระร่วง ฉี่หนู เป็นต้น
โรคกลุ่มนี้จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี แต่ประชาชนมักไม่ตื่นเต้นและพานไม่ใส่ใจทำให้โรคยังคงระบาด ทั้งที่ส่วนใหญ่ป้องกันได้ เช่น โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ หากกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ จัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ก็จะป้องกันและหยุดโรคได้ง่ายๆ
ส่วนกลุ่มการระบาดของโรคใหม่ และบางครั้งก็เป็นโรคเก่าที่เชื้อมีการพัฒนากลายพันธุ์ตามธรรมชาติจนทำให้เกิดความรุนแรงและระบาด เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซาร์ส หวัดนก ไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ กาฬโรค
โรคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีความรุนแรง เพราะเป็นเชื้อใหม่ที่คนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อเกิดขึ้นจึงมักตื่นตกใจ ซึ่งถือว่าดีในแง่ของการป้องกันตัวเอง และจะดีมากยิ่งขึ้นหากนำพฤติกรรมป้องกันตนเองด้วยสุขนิสัยพื้นฐานปฏิบัติจนเป็นชีวิตประจำวัน
เช่น ในปีที่ผ่านมา การระบาดของ โรคมือเท้าปาก หรือ เอนเทอโรไวรัส 71 ที่มักเกิดในเด็กเล็กและถือเป็นโรคประจำถิ่น แต่ที่ตื่นเต้นเพราะข่าวการเกิดโรคลึกลับในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา หากเข้าใจโรคมือเท้าปากว่าเชื้อจะอยู่ในอุจจาระแล้วปลูกฝังให้เด็กรู้จักการล้างมืออย่างถูกต้องทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังกินอาหาร ปิดปากเมื่อไอจาม แยกเด็กป่วยออกจากเด็กอื่น ก็จะตัดวงจรโรคได้
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา จะมีการติดตามโรคที่เกิดใหม่ หรือ เกิดซ้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และควบคุมโรคให้ได้ทันท่วงที แต่การเฝ้าระวังจะไม่เป็นผลสำเร็จเลย หากประชาชนไม่ร่วมมือ
วิธีการป้องกันง่ายๆ ที่ทำได้เกือบทุกโรค คือ
1. ทำร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ กินอาหารถูกหลักโภชนาการ
2. ตัดวงจรการติดต่อ เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ปิดปากเมื่อไอจาม ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เป็นต้น
3. ทำลายเชื้อโรค พาหะ แหล่งเชื้อโรค
4. รักษาสิ่งแวดล้อม สุขลักษณะ ป้องกันแมลงวัน หนูและ
5.พบแพทย์เมื่อมีประวัติเสี่ยงในกลุ่มโรคที่ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน
"เมื่อเกิดโรคระบาด ประชาชนต้องดูแลตัวเองก่อนลำดับแรก ส่วนสิ่งที่จะทำให้ไม่ตื่นตระหนก คือ การติดตามข่าวสาร และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศคำแนะนำ อย่างกรณีภาวะไข้หวัดนก ก็จะมีคำแนะว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร" นพ.รุ่งเรืองกล่าว
สำหรับเชื้อโรคใหม่ๆ นพ.รุ่งเรืองอธิบายว่า ในอนาคตโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะปัจจุบันโลกเชื่อมถึงกันโดยการเดินทางเพียง 24-72 ชั่วโมง จากมุมโลกหนึ่งก็ไปถึงอีกมุมโลกหนึ่งได้ โดยเฉพาะกรณีเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ ประชากรจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการระบาดในวงกว้างได้เร็วยิ่งขึ้น และในอนาคตประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนจะมีการเปิดเสรี ทำให้การเคลื่อนย้ายถิ่นมากขึ้น โอกาสที่โรคซึ่งเคยควบคุมได้จะเกิดขึ้นใหม่ก็เป็นไปได้ เช่น โรคคอตีบ ที่หายไปจากไทยมานานกลับมาระบาด จะต้องใช้เวลาในการควบคุมอีกระยะหนึ่ง
นอกจากโรคระบาดและโรคติดต่อ พบว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อ ยังส่งผลต่อสุขภาพและภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ ล้วนเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น โรคอ้วน หัวใจ ความดัน เบาหวาน มะเร็งเกิดจากไม่ออกกำลังกาย กินแป้ง อาหารมัน ไม่กินผัก อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ท้ายที่สุดก็ทำให้ต้องวิ่งหาหมอแทบไม่ทัน โดยพบว่าไทยมีผู้ป่วยจาก 5 โรคไม่เรื้อรังสูงถึง 11 ล้านคนและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 18 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้เงินรักษาพยาบาลกว่า 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมและทัศนคติสวย หล่อ ต้องผอม ขาว ใส ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ อ้างว่ายา อาหารเสริม เต็มท้องตลาดชนิดที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จับไม่ทัน
โดยปีที่ผ่านมามีการจับและดำเนินคดี คิดเป็นมูลค่า 199 ล้านบาท แยกเป็นยา 79 ล้านบาท อาหาร 30 ล้านบาท เครื่องสำอาง 50 ล้านบาท เครื่องมือแพทย์ 20 ล้านบาท และยังมีการเสริมความงามกันแบบเสี่ยงๆ ฉีดสารแปลกปลอมจนเสียชีวิต
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือ โรคไม่ติดต่อ
สถานการณ์จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรมประชาชน เช่น หากเราใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป ก็ทำให้เกิดการดื้อยา ทำให้เกิดโรคระบาดรุนแรงมากขึ้น ยังไม่นับยาราคาแพงที่จะทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษา ส่วนโรคไม่ติดต่อเกิดจากพฤติกรรม กินไม่ถูก ไม่ออกกำลังกาย และพึ่งยาโดยไม่จำเป็น
ส่วนหนึ่งที่เกิดปรากฏการณ์กินยาเกิน อัดอาหารเสริม วิตามินล้นจอ
ผศ.ภญ.ดร.นิยดาอธิบายว่า ในช่วง 10 ปีก่อน มูลค่าตลาดอาหารเสริมประมาณพันล้านบาท แต่หลังจากช่องทางการโฆษณาเพิ่มขึ้นมีทั้งเคเบิล ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต โดยยังไม่มีมาตรการควบคุม ทำให้สินค้ากลุ่มนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าจะดีจริง ระยะยาวจะเป็นอย่างไร
ยังไม่นับรวมถึงอาหารเสริม วิตามินปลอมที่ล้นตลาด หรือการใช้ยาปลอม ยาโฆษณาเกินจริง ที่ทำให้เกิดผลเสียอันตรายอีกมากมาย
"ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นสาเหตุจากโลกาภิวัตน์ ทุนนิยม ซึ่งเคยเกิดกับประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ในที่สุดก็หันกลับมาพึ่งพาตนเอง ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดอย่างการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งสุขบัญญัติ 10 ประการที่ท่องตอนเด็กๆ ถ้าทำได้ก็สุขภาพดี เช่น กินอาหาร 5 หมู่ กินน้ำ 8 แก้ว ออกกำลังกายงดปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น"ผศ.ภญ.ดร.นิยดาอธิบาย
ทางออกจากวังวนแบบนี้ การหันกลับมาพึ่งพาตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงง่ายๆ อย่างออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ลดปัจจัยเสี่ยง ลดการใช้ยาพร่ำเพรื่อ รู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณา หรือ มายาคติผอม ขาว ล้วนเป็นเรื่องที่ลงมือทำด้วยตัวเองได้
ไม่ว่าจะโรคระบาด โรคติดต่อ ไม่ติดต่อ ก็ป้องกันได้จริง และจบที่คำง่ายๆ ได้ยินจนชินหูที่ว่า "สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง"
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 2 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 53 views