กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เดินหน้าภารกิจแรก หลังตั้งเป็นองค์การมหาชน เร่งเครื่องสร้างศักยภาพในการผลิตวัคซีนไว้ใช้ได้เองในประเทศ ร่วมมือกับ ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ประเทศฝรั่งเศส ผลิตวัคซีนแบบต้นน้ำในประเทศไทย นำร่องวัคซีนรวม 1 เข็มป้องกันได้ 4 โรค ทั้งคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบบี ให้คนไทยได้ใช้วัคซีนนี้ ในราคาที่ถูกลงจากเข็มละหลายร้อยบาท เหลือเพียงไม่ถึงร้อยบาท
ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)เปิดเผยถึงภารกิจของ "สถาบันวัคซีนแห่งชาติ" หลังจากที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้ง "สถาบันวัคซีนแห่งชาติ" เป็นองค์การมหาชนว่า สำนักงานที่ทำการของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้างอาคารถาวรคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2556 นี้ ส่วนภารกิจใน 3 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2556-2558 สถาบันวัคซีนฯ จะเดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์พัฒนาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ ได้แก่ 1. การสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานกลางด้านวัคซีนและให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว 2. พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีนอย่างครบวงจรให้เอื้อต่อการพัฒนาวัคซีนของประเทศ 3. จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนอย่างครบวงจรและได้มาตรฐานสากลมีโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม มีศูนย์ทรัพยากรชีวภาพ มีคลังเก็บวัคซีนมาตรฐานเพื่อใช้เทียบสอบคุณภาพของวัคซีน 4. พัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านวัคซีนในประเทศให้มีขีดความสามารถในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐานสากล ได้แก่ การผลิตวัคซีนเด็งกี่ป้องกันโรคไข้เลือดออก การผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม การผลิตวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี ชนิดรวมและแยกเดี่ยว และวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค ตั้งศูนย์วิจัยวัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ และ 5. บริหารจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวัคซีนของประเทศอย่างเป็นระบบ
สำหรับความคืบหน้าในการผลักดันศักยภาพด้านการผลิตวัคซีนของประเทศไทยไว้ใช้ได้เองทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน เพื่อลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดร.นพ.จรุง บอกว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำ "โครงการความร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบบี แบบต้นน้ำในประเทศไทย" กับบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำการผลิตวัคซีนรวมแบบ 1 เข็มป้องกันได้ 4 โรค ทั้ง โรคคอตีบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก และโรคตับอักเสบบี ซึ่งวัคซีนทั้ง 4 โรคนี้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นต่อการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ โดยวัคซีนไอกรนที่จะผลิตแบบไร้เซลล์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน ส่วนวัคซีนโรคตับอักเสบบี และวัคซีนคอตีบซึ่งในปัจจุบันกำลังระบาดและต้องการวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศ จะผลิตตั้งแต่สารตั้งต้นหรือผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะนี้อัยการสูงสุดได้พิจารณาตรวจสอบความเหมาะสมด้านกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และหากมีการลงนามความร่วมมือ (MOA) ประเทศไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำเพิ่มชนิดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่ไทยสามารถผลิตวัคซีนได้แค่แบบปลายน้ำ ผลิตแบบต้นน้ำได้เพียง 2 ชนิด ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัคซีนเข้มข้นเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตวัคซีน
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ต้องร่วมมือกับบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ประเทศฝรั่งเศสในการผลิตวัคซีนรวมครั้งนี้ ดร.นพ.จรุง อธิบายว่า เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนมานาน และมีการผลิตวัคซีนที่สำคัญหลายตัว จึงมีความเชื่อมั่นและเสนอให้บริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ที่มีสาขาอยู่ในประเทศไทย มาเป็นพี่เลี้ยงในการผลิตและจะมีองค์การเภสัชเข้ามาร่วมในการผลิตด้วย โดยทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะมีกลไกในการควบคุม ตรวจสอบ การผลิตวัคซีนให้ได้มาตรฐาน WHO เป็นวัคซีนที่ไม่ด้อยกว่าวัคซีนมาตรฐานสากล มีการผลิตที่ดีตามมาตรฐาน GMP เมื่อผลิตเสร็จแล้วจะนำไปตรวจสอบต่อว่าสามารถออกฤทธิ์ป้องกันโรคได้จริง และมีการทดสอบในคนด้วย จึงมั่นใจว่าจะได้วัคซีนที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
ทั้งนี้โครงการฯ จะมีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 8 ปี แต่คาดว่ากระบวนการผลิตวัคซีนลอตแรกจะออกมาได้ภายใน 5 ปี และจะมีการสร้างโรงงานขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่างองค์การเภสัช กับ บริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ มีชื่อว่า บริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด :GPO-Merieux Biological Products Co., Ltd (GPO-MBP) ซึ่งจะมีการรับเจ้าหน้าที่และคนงานเพิ่มเติม และจะมีการทำวิจัยในเรื่องของกระบวนการผลิตด้วย เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำ และผลิตให้ได้มาก ๆ ในเรื่องราคานั้นจะมีคณะกรรมการต่อรองราคา และการตั้งราคาต้องมีเหตุมีผล มีการตรวจสอบราคาต้นทุน ราคาตามท้องตลาด ซึ่งในปัจจุบันนี้วัคซีนรวม 1 เข็ม 4 โรค จะมีราคาหลายร้อยบาท แต่ถ้าไทยสามารถผลิตได้เองราคาต่อเข็มก็จะเหลือไม่ถึง 100 บาท และถ้าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยดี ก็จะดำเนินการในการผลิตวัคซีนอื่น ๆ ต่อไป
"โครงการนี้ถือเป็นโครงการแรก ๆ ด้านการผลิตวัคซีนที่สถาบันวัคซีนทำการผลักดันศักยภาพด้านการผลิตวัคซีนของประเทศไทย ให้สามารถผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งสถาบันวัคซีนฯ จะมีการประสานกับบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ประเทศฝรั่งเศส ให้มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ให้สามารถผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้บุคลากรด้านวัคซีนของไทยให้มีความมั่นใจมากขึ้น เป็นการทำตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ซึ่งข้อดีของโครงการนี้ก็คือ 1. ช่วยลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ 2. ไทยมีวัคซีนไว้ใช้อย่างเพียงพอและตลอดเวลา 3. ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ในกระบวนการผลิตวัคซีน 4. บุคลากรด้านวัคซีนของประเทศได้เรียนรู้ 5. สามารถส่งขายวัคซีนออกต่างประเทศ และ6. ในอนาคตหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น ประเทศไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนโรคระบาดนั้น ๆ ได้เอง ถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และขณะนี้ทางสถาบันวัคซีนฯ กำลังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภายในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย พัฒนาและการผลิตวัคซีนมาตรฐานโลกอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้" ดร.นพ.จรุง กล่าวปิดท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 ธันวาคม 2555
- 10 views