ธุรกิจแพทย์ไทยโชว์พลัง “ฮับอาเซียน” โรงพยาบาลเอกชนย้ำภาพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรอรับบริการชาวต่างชาติ “ร.พ.กรุงเทพฯ” เปิดศูนย์บริการฉุกเฉิน ขณะที่ “บางปะกอก” ผุดศูนย์พักฟื้นระยะยาวแพทย์ทางเลือกเอาใจคนไข้จากแดนไกล ด้าน “ซูพีเรีย” ชูจุดเด่นรักษา คนมีลูกยาก ย้ำภาพเบอร์ 1 เอเชียลุยเปิดสาขาในพม่า ด้านโรงพยาบาลรัฐเร่งพัฒนา ทาบชั้นสากล การรวมตัวของประเทศ ในแถบภูมิภาคอาเซียน ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ทำให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การรวมตัวในครั้งนี้
นอกจากแพทย์ไทยจะมีโอกาสเดินทางไปทำงานในต่างแดนได้อย่างเสรีแล้ว ในอนาคตธุรกิจโรงพยาบาลก็จะมีทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้แพทย์และโรงพยาบาลขอไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องดังกล่าว
นพ.ชาตรี ดวงเนตร ผู้อำนวยการเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เผยว่า ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพราะมีคนต่างชาติหลังไหลเข้ามาใช้บริการในการรักษาจำนวนมาก เนื่องมาจากจุดเด่นทั้งในแง่ของคุณภาพในการรักษา ราคาค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่แพงมาก รวมถึงความเป็นกันเองของคนไทย
ล่าสุด ทางโรงพยาบาลได้เปิดตัว “หน่วยบริการฉุกเฉิน เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ Bangkok Emergency Services (BES)” โดยการผนึกกำลังของ 5 โรงพยาบาลชั้นนำในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยหน่วยบริการฉุกเฉิน BES เริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เม.ย. 2556 โดยภายใน ปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปทั่วประเทศ อีกทั้งการบริการนี้ถือเป็นการเตรียมรองรับการเปิด AEC ในการดูผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวหรือที่มาอาศัยอยู่ในไทยที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น
ดร.วรฑา คงแสนอิสระ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและ ผอ.ด้านสายงานพัฒนาธุรกิจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล และโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก กล่าวว่า การเปิด AEC จะส่งผลต่อกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น โดยเครือรพ.บางปะกอกมีเป้าหมายจับกลุ่มเจ้าของธุรกิจและกลุ่มผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งยังมีความคาดหวังว่าจะเป็นเบอร์1ของเอเซียในด้านการรักษาพยาบาลอีกด้วย โดยมั่นใจความพร้อมของทีมแพทย์ และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติ เช่น การดูแลเอาใจใส่ คนไข้ ทั้งระหว่างการรักษาและหลังจากการรักษา หลังจากนั้น คือกลยุทธ์ที่จะสร้างการรับรู้แบบปากต่อปาก ซึ่งต้องทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการเกิดความประทับใจนั่นเอง
ดร.วรพา กล่าวว่า รพ.ยังมีแผนเปิดศูนย์พักฟื้นระยะยาว (Long-Stay) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรองรับผู้ป่วยในและต่างประเทศไม่เกิน 5 ปี และเป็นช่วงที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะแล้วเสร็จ รวมทั้งยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพองค์รวมในเชิงชีวจิต ที่สามารถเป็นการรักษาทางเลือกให้กับผู้รับการรักษาตั้งแต่ผู้ที่สุขภาพดีจนถึงผู้ป่วย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้าหรือคนไข้
ขณะที่ นพ.อุดม เชาวรินทร์ รองผอ.โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถีมีจุดเด่นคือการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคที่จะต้องใช้การรักษาที่ยาก เช่นการรักษาตาที่ต้องใช้จักษุแพทย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะโรคทางจอประสาทตา จะมีผู้ป่วยมาใช้บริการที่นี่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เรายังมีศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษาโรคยาก 7 อย่างอีกด้วย
สำหรับสัดส่วนของผู้ป่วยโรงพยาลในปัจจุบันนั้นเป็นคนไทยกว่า 90 % ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้ตั้งเป้าในอนาคตว่าต้องการเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพและบริการที่มาตรฐานในระดับสากลนานาชาติ(JCL) รวมถึงพัฒนาศูนย์ทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ เพื่อจะรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น โดยขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้เตรียมตัวในการพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างความรู้ให้เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ เตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาติแถบเอเชีย
ทางด้านนายศรายุธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนของผู้มาใช้บริการของศูนย์ฯในประเทศไทย หลักๆ จะเป็นชาวต่างชาติ คิดเป็นสัดส่วน 80% และคนไทยเพียง 20% เท่านั้น โดยใน 80% เป็นชาวพม่าถึง 10% ทำให้เห็นโอกาสในการตอบโจทย์ จึงได้เปิดศูนย์ให้บริการที่พม่าเพื่ออำนวยความสะดวก เนื่องเพราะขั้นตอนในการรักษาใช้เวลาหลาย นับได้ว่าเป็นการขยายสาขาครั้งแรกในต่างประเทศ
“การเปิดประตูสู่อาเซียน ทำให้เราทำงานหลายๆ อย่างง่ายขึ้น เพราะลดข้อจำกัดที่มีบางข้อในปัจจุบัน ด้วยการวางแผนดังกล่าว ทำให้เราเหมือนเปิดประตูอาเซียนไปล่วงหน้าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะเราต้องเตรียมฝึกอบรมให้ความรู้กับพันธมิตร อีกทั้งเตรียมงานในด้านต่างๆ ของเราที่ต่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงเราจะไม่มีการย้ายบุคลากรการแพทย์ไปที่อื่น แต่เราจะกลายเป็น Hub ที่เขาต้องมาเรียนกับเรา ซึ่งเรามองว่ามันเป็นจุดต่างที่เราไม่เหมือนที่อื่น”
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.สว่าง แสงหิรัญวัฒนา หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า แพทย์ไทยถือว่ามีความได้เปรียบ เนื่องจากส่วนใหญ่จบการศึกษาจากอเมริกา รวมถึงมีความทันสมัยในเรื่องเทคโนโลยีทางการรักษา และคนไทยมีความโอบอ้อมอารีเป็นพื้นฐานอย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ทางโรงพยาบาลได้เตรียมการเรื่องบุคลากรเพื่อรองรับ รวมถึงได้ไปบรรยายให้ความรู้ทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย เพื่อให้เป็นที่ร็จักมากขึ้น ตลอดจนการรวมกลุ่มระหว่างโรงพยาบาลสมิติเวชกับโรงพยาบาลกรุงเทพ และขยายเครือข่ายการรักษาทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องดีที่คนไข้จะมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานขึ้น
“เชื่อว่าแพทย์และโรงพยาบาลของไทยมีศักยภาพ และพร้อมแข่งขันในตลาดเออีซี เนื่องจากมีการศึกษาด้านการบริหารที่สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวัดผลด้านประสิทธิภาพ เวลา ราคา การบริการ ความพึงพอใจของคนไข้ ฯลฯ นอกจากคนไทยแล้วยังมีคนไข้ต่างชาติ ซึ่งเราจะต้องมีความพร้อมด้านภาษา และเข้าใจถึงวัฒนธรรมแต่ละชาติ รวมถึงการรักษาจะต้องเน้นเรื่องการดูแล เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด”
--สยามธุรกิจฉบับวันที่ 15 - 18 ธ.ค. 2555--
- 28 views