มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ออกรณรงค์ให้สังคมยอมรับ-ลดตีตราบาปวอนบุคลากรแพทย์เลิกส่งผู้ติดเชื้อไปตายบ้าน
จากที่โครงการเอดส์สหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ได้ริเริ่มรณรงค์โรคเอดส์ "Getting to Zero" คือ Zero new infection การไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ Zero death การที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และ Zero Stigma and discrimination การไม่มีตีตราหรือการแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป ซึ่งประเทศไทยก็เดินตามแผนนี้เช่นเดียวกัน และในปี 2559 ตั้งเป้าจะทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และไม่มีการตีตราผู้ติดเชื้ออีกต่อไป แต่การตีตรายังมีให้เห็นอยู่ในสังคมไทยที่สำคัญไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เราจะเน้นเรื่องการตีตรา โดยเข้าไปรณรงค์ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น อบต. เมื่อก่อนจะมีการระบุชื่อคนป่วนเอดส์ในบัญชีงบประมาณ และบางพื้นที่ก็มีการประกาศเสียงตามสายให้มารับเงินทางเราก็เข้าไปพูดคุยเพื่อให้ปรับเปลี่ยน ไม่ให้ระบุชื่อ และไม่ให้มีการประกาศเสียงตามสายเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการ ข้าราชการที่ติดเชื้อเมื่อก่อน ต้องเอาใบเสร็จไปเบิกเงิน และในนั้นจะระบุว่าป่วยเป็นโรคอะไร ทำให้ข้าราชการคนนั้นถูกเปิดเผยชื่อว่าเป็นเอดส์ แต่ตอนนี้ทุกกองทุนสุขภาพให้การรักษาเหมือนกันและเก็๋บรักษาเป็นความลับและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายถ้าสงสัยเป็นกลุ่มเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การตีตราในชนบทจะแรงกว่าในเมือง เพราะในเมืองคนจะไม่สนใจใคร และความรักเกียจเพิ่มขึ้น ซึ่งพบเห็น โรงเรียนหลายแห่ง เด็กติดเอดส์ไม่สามารถเรียนร่วมชั้นกับเด็กปกติได้ หากพบว่าพ่อแม่เขาเป็นเอดส์ จึงไม่อยากให้ทำเป็นแคมเปญรณรงค์เหมือนไฟไหม้ฟางอยากให้พูดกันทุกฝ่ายว่าเอดส์เป็นแล้วไม่ตาย กินยาแล้วอยู่ได้เหมือนโรคปกติ และต้องสื่อสารสาธารณะจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งยังเห็นการตีตราหลายรูปแบบในการรับสมัครงาน โดยบริษัทบางแห่งขอตรวจเลือดคนสมัครงานก่อน บางโรงงานตรวจสุจภาพ พอทราบผลเลือด พนักงานถูกให้ออกหรือให้ย้ายสายงาน ขณะเดียวกันสถานศึกษาบางแห่งขอตรวจเลือดนักศึกษาก่อนเข้าเรียน
นายโอ๊ต (นามสมมุติ) วัย 38 ปี ผู้ติดเชื้อกล่าวว่า การมีเชื้อเอดส์ ไม่ได้ทำให้ศักยภาพการทำงานน้อยลง สิ่งที่อยู่ในร่างกายก็เหมือนกับโรคเรื้อรังที่คนอื่นๆ มี ทั้งนี้รู้ว่าตัวติดเชื้อเมื่ออายุ 26 ปี แต่ติดจากไหน จากใคร ไม่ทราบ รู้แต่ว่าภรรยาเริ่มมีอาการก่อน และหลังจากนั้นก็ไปตรวจเลือด และเมื่อรู้ว่ามีเชื้อบวก ตอนนั้นโลกทั้งโลกเหมือนถล่มทลาย ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เพราะคิดว่าโรคนี้เป็นแล้วตายอย่างเดียว
"ผมเคยไปวัด และคนในวัดก็ซุบซิบนินทาไม่ยอมร่วมกินข้าวและไม่นั่งอยู่ใกล้ด้วย ผมรู้ว่าคนอื่นคงอึดอัด ผมก็เลยกลับและไม่ไปวัดอีกเลย" นายโอ๊ต กล่าว และบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตไปไม่นาน
นายโอ๊ตเล่าประสบการณ์หางานทำหลังภรรยาเสียชีวิตว่า ไปสมัครงานที่โรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี โชคดีไม่มีการตรวจเลือด ซึ่งทำอยู่ได้ประมาณเกือบปีก็ลาออก ซึ่งระหว่างทำงานอยู่นั้นจะถามเพื่อนร่วมงานตลอดว่าตรวจร่างกายประจำปีหรือไม่ โดยเช็กเพื่อนตลอดนอกจากนี้ก็มีแฟนเป็นผู้ติดเชื้อเหมือนกัน และยอมรับว่าเข้าใจกันได้มากกว่าแฟนคนก่อนที่ไม่ได้ติดเชื้อ แต่สุดท้ายก็เลิกรากันไป จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตคู่กับหญิงสาววัย 25 ปี ซึ่งไม่ใช่ผู้ติดเชื้อแต่ทำงานด้วยกันมา
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของภรรยา ยังไม่รู้ว่าตนติดเชื้อ เวลากลับบ้าน จะต้องระมัดระวังเรื่องการกินยา และต้องแอบไปกินยาที่อื่นเพราะกลัวว่าแม่ของภรรยาจะรู้ และเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและญาติๆ ของทั้งสองฝ่าย
"ก็อึดอัดและสวนทางกับสิ่งที่เราพยายามรณรงค์ เราอยากให้สังคมเปิดใจกว้างรับเราแต่สุดท้ายเราก็ยังกลัวสังคมอยู่ดี เพราะเราคาดเดาอารมณ์ของสังคมไม่ได้จริงๆ" นายโอ๊ตกล่าวทิ้งท้าย
นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวถึงสถานการณ์การตีตรากลุ่มหญิงบริการทันทีที่กลายเป็นผู้ติดเชื้อว่า กลุ่มเหล่านี้ถูกผลักดันออกจากโรงพยายาลเนื่องจากสถานพยาบาลไม่ยอมให้รักษานานเกินไป หญิงบริการเหล่านี้จะกลับเข้าไปรับการรักษาตัวอีกครั้งเมื่ออาการทรุดนักแล้ว มีบางรายซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว มีสิทธิรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ส่งผู้ป่วยไปรักษาตัวครั้งแรกแต่กลับปฏิเสธ หลังจากนั้นก็ส่งไปที่โรงพยาบาลรัฐอีกแห่ง แต่ก็ได้รับการรักษาเพียงเบื้องต้นเท่านั้น
"มีบางคำพูดที่ติดหูผู้ป่วย โดยที่ผู้ป่วยอ้างว่าเป็นคำพูดของบุคลากรทางการสาธารณสุขว่าอาการอยู่ได้อีกไม่นานหรอก ไม่เกินหนึ่งเดือนควรเอาเตียงไว้ให้คนป่วยรายอื่นที่รักษาและมีโอกาสรอด เราพบผู้ป่วยรายนี้มานอนโทรมอยู่ข้างถนนไม่เกินหนึ่งเดือนตามที่หมอว่าเขาก็เสียชีวิต คำถามเราคือว่าถ้ารักษาอย่างจริงจังได้รับยาต้านไวรัสอย่างดี เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้" นายนทีกล่าวและว่านี่เป็นทัศนคติที่สะท้อนว่าบุคลากรทางการสาธารณสุขมองเห็นคนไม่เท่ากันและนำไปสู่การสูญเสีย
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุด้วยว่านอกจากกลุ่มหญิงบริการที่ติดเชื้อถูกเลือกปฏิบัติแล้ว กลุ่มคนเร่ร่อนก็เผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกัน บางรายเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่กลับได้รับคำแนะนำว่าให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านต่างจังหวัดแทนที่จะให้คำแนะนำในการย้ายสิทธิมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีเจตนาดี แต่ลืมไปว่าแท้จริงแล้วทัศนคติของคนที่บ้านต่างจังหวัดยังไม่ได้เตรียมพร้อม แทนที่เขาจะได้อยู่ในที่สบายใจและอยู่ได้นานกว่าแต่กลับพบว่าบางคนกลับไปอยู่ที่บ้านแล้วเสียชีวิตเร็ว เนื่องจากถูกกดดันจากครอบครัว
นายนทีกล่าวอีกว่า ได้เก็บสถิติตั้งแต่ต้นปี 2555 พบว่า คนเร่ร่อนในพื้นที่สนามหลวงที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ประมาณ 8 ราย และในส่วนของภาครัฐต้องกำกับนโยบายให้ทำได้จริง หากบุคลากรภาครัฐไม่สามารถทำได้ก็ต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาทำ ในส่วนของโรงพยาบาลต้องปรับทัศนคติบุคลากรต่อคนเร่ร่อนที่เป็นผู้ติดเชื้อ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ สะสมสำหรับการคาดการณ์ประมาณผู้ติดเชื้อเอดส์และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ Thai Working Group และทีม A 2 (The Asian Epidemic Model (AEM) Projection For HIV/AIDS in thailand : 2005-2025) ตัวเลขในปี 2555 คาดว่า จะมีผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อประมาณ 1,157,589 ราย เป็นผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์แล้ว 695,905 ราย เป็นผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ 464,414 ราย และคาดว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2554 จำนวน 9,473 ราย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555
- 88 views