กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคคอตีบ หลังพบมีผู้ป่วยใน 15 จังหวัด ว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นได้ปรับลดพื้นที่ระบาดเหลือเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี และนครราชสีมา แนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปในพื้นที่เหล่านี้ ไม่ต้องกังวลหรือกลัวติดโรคแต่อย่างใด เนื่องจากเชื้อโรคนี้สามารถขจัดได้โดยการล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ
(วันนี้ 23 พฤศจิกายน 2555) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมวอร์รูมติดตามเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาโรคคอตีบของกระทรวงสาธารณสุขว่า สถานการณ์โรคคอตีบในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการอยู่ในข่ายสงสัยใน 15 จังหวัด จนถึงขณะนี้ ดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ป่วยลดลง และในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 2 ราย ที่จ.อุดรธานี และจ.นครราชสีมา รวมตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน มีผู้ป่วยจำนวน 37 ราย จัดว่ามาตรการที่ดำเนินการทั้งเรื่องการป้องกัน ควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมาก ในวันนี้ที่ประชุมวอร์รูม กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ปรับลดพื้นที่เฝ้าระวังโรคคอตีบเหลือเพียง 3 จังหวัดคือ จ.เลย จ.อุดรธานี และจ.นครราชสีมา ที่เหลืออีก 12 จังหวัดสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ในส่วนของประชาชนที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่เคยมีรายงาน หรือมีรายงานพบผู้ป่วยโรคคอตีบ ยังสามารถเดินทางไปได้ตามปกติ ไม่ต้องวิตกกังวลหรือกลัวติดโรค แต่อย่างไรก็ตาม การมีสุขอนามัยที่ดี กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ ไม่คลุกคลีกับคนป่วย เมื่อไอ จาม ให้ปิดปาก ปิดจมูก ก็จะช่วยป้องกันโรคติดต่อต่างๆได้มาก ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกันโรค หากฉีดได้ก็จะช่วยป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคคอตีบในทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. ประชาสัมพันธ์ เร่งให้ความรู้ ความเข้าใจประชาชน 2 ประการหลักๆ ได้แก่ 1.การดูแลสุขภาพและรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น รณรงค์ให้ประชาชนทุกคนกินอาหารที่สุกร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องส้วมให้เป็นนิสัย หรือล้างมือภายหลังไปจับต้องสิ่งของต่างๆ
2.การพาลูกหลานไปฉีดวัคซีน ทั้งคอตีบและโรคอื่นๆตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ จะเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ไม่ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน หรือหากป่วยอาการจะไม่รุนแรง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศแต่ละวันไม่แน่นอน อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และโรคมือเท้าปาก โดยในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขจะให้มีการทบทวนปรับปรุงตารางการฉีดวัคซีนของคนไทย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมวิเคราะห์จากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง นายแพทย์โสภณกล่าว
- 4 views