"ประดิษฐ" สั่งห้ามทะเลาะกันยันไม่รับข้อตกลงที่ทำให้ประเทศเสียหาย หากมีผลกระทบก็ต้องหาทางเยียวยา ด้าน "กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์" เผย 5 ปีหลังรับเอฟทีเอไทย-อียู ค่าใช้จ่ายด้านยาจะบานอีกกว่าแสนล้านบาท
วานนี้ (22 พ.ย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมหารือเรื่อง "ข้อคิดเห็นต่อการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ในประเด็น : Data Exclusivity และPaterm Extension" ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ว่า จะมีผลดี ผลเสีย หรือเกิดความเสียหายอย่างไรกับอุตสาหกรรมยาและระบบยาในประเทศ และจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หากภาพรวมเป็นบวกก็สามารถทำได้เลย หากผลออกมาเป็นลบอาจจะไม่ทำหรือหากทำจะมีการเยียวยาอย่างไร เช่น แก้กฎระเบียบภายในประเทศเพื่อป้องกันผลกระทบ ระยะเวลาการจดสิทธิบัตรที่สมเหตุผล ระเบียบการจดสิทธิบัตร เป็นต้น
"วันนี้ที่คุยกันอยากให้ร่วมกันเสนอหาทางออก ไม่ใช่มาทะเลาะกันว่าใครทำผิดทำถูก ขณะนี้รัฐบาลมีขั้นตอนในการรับฟังประชาชนทุกด้าน เพื่อนำไปคิดแก้ปัญหาต่อไป ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาและนำเข้าสู่การพิจารณาตามกรอบของสภาฯ แต่ยืนยันว่ายังไม่นำเข้าที่ประชุม ครม.วันอังคารนี้แน่นอน เพราะมีประชุมสภาวาระไม่ไว้วางใจ" รมว.สธ.กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า การทำเอฟทีเอทุกอย่างต้องอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน หากยอมรับข้อเสนอแล้วเกิดปัญหาแต่ไม่สามารถหามาตรการแก้ไขได้รัฐบาลคงไม่ทำแต่ยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาอาจจะแก้ไขไม่ได้ 100% แต่ก็จำเป็นต้องหาวิธีการเยียวยา และหวังว่าจะมีการเยียวยาข้อเรียกร้องให้ได้มากที่สุด ถ้าออกมาแล้วรัฐบาลทำให้เกิดผลทางลบคงไม่ทำ
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการศึกษาของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในปีที่5 นับจากปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลยาหรือที่เรียกว่าData Exclusivity ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาทต่อปี และเมื่อมีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาหรือที่เรียกว่า Patent Term Extension เพิ่มขึ้นอีก5 ปี ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาทต่อปี ภาพรวมผลกระทบจาก 2 เรื่องอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555
- 1 view