เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ตึกสยามินทร์ รพ.ศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับนายมนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ แถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 21 ประจำปี 2555 ว่ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 75 ราย จาก 34 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2555, 2554 และ 2553 นำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา และมีมติตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ จากสหราชอาณาจักร สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก จากประเทศไนจีเรีย ทั้งนี้พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จะจัดขึ้นในปลายเดือน ม.ค. 2556 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กล่าวว่า เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเซนต์โทมัส มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (ไนซ์) ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน และนายกราชแพทยสมาคมแห่งประเทศอังกฤษ เป็นทั้งผู้นำแนวคิดและผู้ปฏิบัติในการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางการแพทย์ ที่สามารถตรวจสอบได้มาประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยา เครื่องมือต่าง ๆ และวิธีการรักษา ผลงานของเซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ ก่อให้เกิดการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานคุณภาพอย่างดีเลิศ เหมาะสม และคุ้มค่าทั่วทั้งสหราชอาณาจักร และมีการนำไปเผยแพร่เป็นแม่แบบ และประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ส่วน ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก จากไนจีเรีย อดีต ผอ.โครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาและปรสิตวิทยาทาง การแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย และการสาธารณสุขระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า 5 แสนชุมชนใน 19 ประเทศ ของทวีปแอฟริกา ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุมโรคอย่างชัดเจน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555
- 6 views