วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2555) ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมประชุมหารือหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม องค์กรภาคเอกชน เช่น สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) สมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ (PReMA) สมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย) และภาคประชาชน เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เป็นต้น เรื่อง “ข้อคิดเห็นต่อการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่เกี่ยวข้องกับยา ใน 2 ประเด็น ได้แก่การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนด้านยา (Data Exclusivity) และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา (Patent Term Extension)
นายแพทย์ประดิษฐให้สัมภาษณ์ว่า การหารือในวันนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่เป็นที่สนใจของสาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปิดการเจรจาการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทบด้านยา โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่องการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนด้านยา (Data Exclusivity) และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา (Patent Term Extension) เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการประมวลประกอบการกำหนดหน้าที่และแนวทางการเจรจา ที่จะเสนอต่อรัฐบาลในการกำหนดกรอบการเจรจา หากมีความจำเป็นต้องเปิดการเจรจา FTA กับ EU
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้เริ่มการเจรจาตกลงกับอียูแต่อย่างใด ขั้นตอนการทำเรื่องนี้ จะต้องทำอย่างรอบคอบ และเป็นความเห็นร่วมทุกฝ่าย และมีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกด้าน และนำไปพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป จุดยืนของรัฐบาลจะให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และดูผลกระทบภาพรวมของประเทศด้วย
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยจะพยายามดำเนินการโดยอิงข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการเจรจาที่มีข้อมูลส่วนหนึ่งจากการทำศึกษาวิจัยประเมินผลกระทบที่ผ่านมา ขณะนี้ อย. ยังมีการดำเนินการหารือร่วมกับสำนักงานสุขภาพแห่งชาติเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment)จากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2556 จากนั้นจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งการวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ไทยเคยเจรจากับประเทศอื่นมาประกอบด้วย เพื่อสร้างจุดยืนของไทยให้มีความชัดเจนต่อข้อเสนอต่างๆ ของสหภาพยุโรป โดยต้องมีเงื่อนไขที่ไม่ให้ไทยเสียผลประโยชน์ เพราะการเจรจาเป็นเรื่องของการต่อรอง ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญในการที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ และอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ
- 2 views