กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา วิเคราะห์งบ รพ.สธ.ปี 56 หวั่นขาดทุนหนัก แนะรัฐอัดงบฉุกเฉินแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน พร้อมติงแนวทางแก้ปัญหา สธ. เน้นเพิ่มประสิทธิภาพบริหารงบเพิ่ม เหตุที่ผ่านมา รพ.ส่วนใหญ่ต่างปรับตัวรับมือเต็มที่ ขณะที่ "ชมรมแพทย์ชนบท" เผย ผอ.รพช. 98% มุ่งบริหารลดต้นทุน แต่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ชี้หากรัฐคงงบประมาณ 30 บาท ต้องชดเชยภาระค่าจ้าง และเงินเดือนแทน
ปัญหาสถานะโรงพยาบาลที่ส่อเค้าวิกฤติ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้ติดตามปัญหางบประมาณค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว โดยในส่วนของงบประมาณโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากโครงสร้างงประมาณรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มโรงพยาบาลที่กำไร และโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดทุนพบว่าในเดือนกันยายนปี55 เห็นว่าแนวโน้นน่าจะไม่ดี โดยมีโรงพยาบาลขาดทุนถึงกว่า 400 แห่ง และเชื่อว่าในปี 2556 จะมีปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนเพิ่มมากขึ้นแน่นอนกระทบต่อการบริการรักษาพยาบาลประชาชน
เขายังบอกอีกว่าจากการวิเคราะห์ที่มองว่า ปัญหางบประมาณโรงพยาบาลในปี 2556 น่าจะประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้น และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ต้องออกมาเตือนรัฐบาลก่อน เพราะเชื่อว่าเกิดความเข้าใจผิดในข้อมูลการจัดทำงบประมาณ เพราะในการตั้งงบประมาณปี 2556 ที่รัฐบาลคงอัตราเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ 2,755.60 บาท เท่ากับปี 2555 เพราะเห็นว่างบประมาณปี54 มีเงินบำรุงสุทธิถึง 31,580 ล้านบาท ส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค้างท่อเบิกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 17,000 ล้านบาท ที่มีการเร่งเบิกจ่าย ส่งผลให้งบประมาณในปี 2555 ดีขึ้นตามไปด้วย แต่พอปลายปี 2555 จำนวนเงินค้างท่อเริ่มหมดแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าในปี 2556 วิกฤติงบประมาณที่กำลังจะเกิดขึ้นจากปัจจัยการคงงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของรัฐบาล
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้นคือ ในการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 ซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคมผ่านมา โดยทาง สปสช.ได้ทำการโอนงบประมาณไตรมาสแรกไปยังกระทรวงสาธารณสุข และให้กระจายงบประมาณส่งต่อไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ ตัดเงินเดือนที่เขตก่อน แล้วจึงกระจายงบประมาณไปยังโรงพยาบาล ทั้งนี้เมื่อเกิดวิกฤตงบประมาณในพื้นที่ใด ให้รัฐบาลนำงบฉุกเฉินส่วนกลางซึ่งอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี 70,000 ล้านบาทมาช่วยเหลือ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะต้องมีการร่วมจ่าย รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบในปี 2557 คงแช่แข็งงบประมาณไม่ได้ ส่วนจะเพิ่มงบเข้าสู่ระบบเท่าไหร่นั้น จะต้องประเมินสถานการณ์งบประมาณในปี 2557
"จากการฟังชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุขถึงแนวทางแก้ไขปัญหางบประมาณ ทั้ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.รณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าจะเน้นไปที่การปรับประสิทธิการบริหารจัดการงบประมาณ ทั้งระดับส่วนกลางและโรงพยาบาล แต่เรามองว่าแนวทางดังกล่าวคงช่วยแก้ปัญหางบประมาณได้ไม่มาก เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ต่างพยาบาลปรับการบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ดังนั้นทางออกคือการเพิ่มงบประมาณลงไปในระบบ โดยเฉพาะในปี 2557 ซึ่งไม่ควรคงอัตรางบประมาณ 3 ปีตามนโยบาย" รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขชี้รพ.ชุมชนปรับตัวบริหารต้นทุน
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงพยาบาลเพื่อประหยัดงบประมาณ ต้องบอกว่าที่ผ่านมาผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 90-98 ต่างทำอย่างเต็มที่อยู่แล้วเพื่อช่วยกันลดต้นทุนโรงพยาบาล ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่เป็นระดับอาวุโส มีประสบการณ์บริหารพอควร ไม่ได้มีแต่แพทย์จบใหม่แล้วเพราะต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลชุมชนมีรายได้มาจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ไม่มีรายได้จากระบบประกันสังคมหรือระบบสวัสดิการข้าราชการเหมือนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพจึงทำกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว และการจะเพิ่มเติมเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นคงทำได้อยาก
นอกจากนี้ที่ผ่านมาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและส่วนกลางยังมีนโยบายใหม่ๆ ลงมาอย่างต่อเนื่อง มีการออกนโยบายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่จะมาแค่นโยบายเท่านั้น ส่วนงบประมาณยังคงเท่าเดิม ซึ่งในฐานะหน่วยบริการภายใต้สังกัดก็ต้องทำตามโดยการเจียดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวมาดำเนินการ ประกอบกับต้นทุนภาระค่าแรงที่ปรับเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนค่าแรง 300 บาท และการปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการมีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 30-40 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกกลับถูกคิดเป็นแบบเหมาร่วมรายหัว ทำให้เป็นภาระงบประมาณเช่นกัน ไม่นับรวมนโยบายคงงบเหมาจ่ายรายหัว 3 ปี
หวั่นคุณภาพรักษาลดลง
"สิ่งที่กลัวหากงบประมาณถูกจำกัดมากๆ จะทำให้เกิดการลดคุณภาพการบริการประชาชน เพราะหากมีการส่งสัญญาณผิดๆ ในด้านงบประมาณ ซึ่งท้ายสุดจะทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ปล่อยให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระ" ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวและว่า หากรัฐบาลคงงบเหมาจ่ายรายหัวไม่ว่า แต่ต้องชดเชยภาระค่าแรงและเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6-7
นพ.อารักษ์ กล่าวว่า สำหรับงบดีพีแอล อยากให้รัฐบาลเร่งอนุมัติงบดีพีแอลของกระทรวงสาธารณสุขที่ยังค้างอยู่ 3,426 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนก้อนแรกหลังจากที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยได้รับงบลงทุนเลยมาร่วม 10 ปี ซึ่งจากการอนุมัติงบประมาณล่าช้านี้ ทำให้ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลบางส่วนที่เจียดเงินงบประมาณจากเหมาจ่ายรายหัวมาใช้จัดซื้อแทน ส่งผลทำให้งบประมาณที่ได้รับนั้นลดน้อยลงไปอีก
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555
- 2 views