'นพ.ประดิษฐ'หาแนวทางลดหนี้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.เล็งปรับแผนบริหารเชิงธุรกิจ ไอเดียกระฉูด '30 บาท พลัส' ดึงกลุ่มแรงงานต่างด้าว ข้าราชการท้องถิ่น เข้าระบบ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษ "แนวทางการบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ" ในเวทีสัมมนาเรื่อง "ชะตากรรมคนไทย หลังคุมค่าใช้จ่าย 30 บาท 3 ปี" ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการควบคุมงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยให้คงอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่รายละ 2,755.60 บาท ระยะเวลา 3 ปีงบประมาณ (ปี 2555-2557) นั้น จัดเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการ ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงการใช้บริการของประชาชนในระบบ 30 บาท จะพบว่ามีประชาชนที่มีสิทธิประมาณ 48.5 ล้านคน แต่มีผู้ที่มาใช้บริการประมาณ 32.6 ล้านคน หายไปกว่า 10 ล้านคน และในจำนวนผู้ที่มาใช้บริการมีประมาณกว่า 31 ล้านคน ใช้บริการเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง แสดงว่ามีคนไปใช้บริการมากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ไม่ถึงล้านคน เมื่อนำอัตราค่าใช้จ่ายรายหัวมาคำนวณแล้ว แสดงว่าใช้เงินเกือบ 1 แสนล้านบาท ดูแลคนเกือบ 1 ล้านคน ดังนั้น ในการบริหารงบจำเป็นจะต้องปรับใหม่ทั้งหมด

"สธ.ยุคใหม่จะต้องนำระบบธุรกิจเข้ามาช่วย เช่น ในเรื่องของยาแต่ละโรงพยาบาลจะต้องมีการกำหนดเพดานสูงสุดว่า ในยาแต่ละชนิด แต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนสูงสุดเท่าใด เพื่อไม่ให้สั่งซื้อยามากเกินความจำเป็น ทั้งยังจะต้องหาทางเพิ่มรายรับโดยการดึงระบบสวัสดิการข้าราชการท้องถิ่น และแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในระบบของ สธ. รวมทั้งอาจจะมีการจัดทำเป็นระบบ 30 บาทพลัส เพื่อดึงคนกลุ่มอื่นมาเข้าสู่ระบบนี้ด้วย โดยที่สิทธิต่างๆ จะไม่เหมือนระบบ 30 บาททั้งหมด ส่วนรายละเอียดต้องมีการหารือเพื่อหาสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมให้" นพ. ประดิษฐกล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่มีสถานะความเสี่ยงด้านการเงินในระดับปกติ 245 แห่ง ระดับต่ำ 335 แห่ง ระดับสูง 100 แห่ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า รัฐบาลไม่ปล่อยให้โรงพยาบาลล้มละลายแน่นอน ขณะที่ สธ.จะต้องมีมาตรการต่างๆ เพิ่มด้วย เช่น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ ค่าวัสดุห้องปฏิบัติการ เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลต้องกลับไปปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าวมีการแจกเอกสารการประเมินสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลสังกัด สธ.ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2555 สรุปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหานโยบายและการดำเนินงานของ 3 กองทุนสุขภาพในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งมีโรงพยาบาลรายงานข้อมูลเข้ามา 832 แห่ง พบว่าจากการประเมินแนวโน้มผลประกอบการคาดหมายว่าเมื่อสิ้นปี 2555 จะมีโรงพยาบาลขาดทุนมากกว่าร้อยละ 70 ภาพรวมผลประกอบการจะขาดทุนจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเร่งจัดสรรเงินที่ยังคงค้างในกองทุนต่างๆ ขณะที่ปัจจัยที่จะช่วยพยุงฐานะการเงินของโรงพยาบาลอีกปัจจัยคือ ทุนสำรองสุทธิ โดยพบว่ามีทุนสำรองสุทธิกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ก็พบว่ามีโรงพยาบาลที่มีทุนดังกล่าวติดลบคือ มีหนี้มากกว่าทุนถึง 211 แห่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2555