ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาการค้าเสรี ไปยังคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดยเห็นตรงกันว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) ในกรณีของยารักษาโรค
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาในประเด็นสิทธิบัตรและการผูกขาดเชิงพาณิชย์ได้ ก็ควรดำเนินการทางกฎหมายให้เกิดมาตรการเยียวยาและมาตรการรองรับผลกระทบภายในประเทศก่อนที่การเจรจาจะแล้วเสร็จ โดยต้องจัดสรรงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้นจากความตกลงทางการค้าเสรีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ให้จัดสรรงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนาอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนให้คนไทยผลิตยาเองได้ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศพร้อมทั้งให้รัฐกำหนดให้มีมาตรการควบคุมยาในประเทศอย่างจริงจัง สำหรับปัญหาคู่เจรจาขอให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา ที่ประชุมเห็นว่าต้องเสนอให้มีการขยายระยะเวลาคุ้มครองสั้นที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ระบุว่า หากการเจรจาการค้าเสรียอมรับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้เหนือกว่าความตกลงทริปส์อาจจะส่งผลให้เกิดการขยายสิทธิการผูกขาดทางการพาณิชย์ในยา โดยหากเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้กับคู่เจรจา 1 ปี มูลค่าผลกระทบต่อราคายาสูงสุดจะอยู่ที่ 2,834.7 ล้านบาท หากยืดอายุถึง 10 ปี มูลค่าผลกระทบสูงสุดจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)
สำหรับข้อเสนอ ได้แก่ รัฐบาลต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) กรอบเจรจาฯ อย่างทั่วถึงก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศกำหนดกรอบการเจรจาฯ อย่างชัดเจนว่าให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ นอกจากนี้ต้องจัดให้มีการศึกษาเปรียบเทียบผลดีผลเสียในภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการมาเยือนประเทศไทยของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าว่า เชื่อว่านายบารักโอบามา จะเสนอให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้าข้ามแปซิฟิก หรือ TPPA ซึ่งเนื้อหาของ TPPA อุตสาหกรรมยาข้ามชาติได้สอดไส้ไม่ให้มีการควบคุมราคายา ไม่ให้ต่อรองราคายารัฐบาลจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
9 นโยบายเร่งด่วน 'หมอชลน่าน'
เมื่อวันที่9 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลน่าน พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงาน
นพ.ชลน่าน ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า ภายใน 10 ปี คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการทำงานจะประเมินผลทุก 6 เดือน เพื่อปรับกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย และให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
นอกจากนี้ มีภารกิจเร่งด่วน 9 เรื่องที่จะดำเนินการ ดังนี้ 1.พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินรองรับอุบัติเหตุทางจราจรโดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึง 2.การดูแลกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสผ่านทางศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พึ่งได้ และโครงการเพื่อเด็กและสตรี3.การแก้ปัญหายาเสพติด 4.ปรับปรุงคุณภาพการบริการประชาชนเพื่อลดคิวและระยะเวลารอแพทย์ให้สั้นลง
5.จัดหมอใกล้บ้านใกล้ใจทุกครัวเรือนติดต่อได้ตลอดเวลา 6.การดูแลส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัยและกลุ่มโรคตามนโยบายรัฐ 7.ขยายการบูรณาการการจัดบริการผู้ป่วยที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ 8.ดูแลโครงการพระราชดำริ และ 9.จัดเตรียมงบประมาณ 2557 ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ม.ค. 2556
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 พ.ย. 2555
- 1 view