"เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว" ขู่ "หยุดงาน-ลาออก" หากไม่บรรจุเป็นข้าราชการทั้งหมด พร้อมปัดไม่รับพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เหตุใช้เงินบำรุง รพ.จ่ายเงินเดือน หวั่นไม่มั่นคง เว้นหากเบิกจากงบกลาง เผย ปี 2555 อนุมัติตำแหน่งข้าราชการ 4,000 อัตรา เริ่มบรรจุต้นปีหน้า แต่สัดส่วนพยาบาลถูกบรรจุไม่ถึง 10% ด้าน "หมอประดิษฐ" ย้ำ ทางออกเป็นพนักงาน ก.สธ. จัดสวัสดิการเหมาะสม มั่นคง และ มีความก้าวหน้า
ภายหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข และตัวแทนเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า พยายามหาตำแหน่งมาบรรจุให้ลูกจ้างชั่วคราว 11,000 ตำแหน่ง ที่ทำงานตั้งแต่ปี 2548-2550 ก่อน เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. ปีหน้าบรรจุได้ประมาณ 4,000 ตำแหน่ง โดยพิจารณาตามลำดับความสำคัญของวิชาชีพที่ขาดแคลนในแต่ละโรงพยาบาล ส่วนที่เหลือจะพยายามคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนที่ไม่ได้ทอดทิ้งจะหารูปแบบการจ้าง เช่น เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) มีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการเหมาะสม ความไม่มั่นคงของการจ้างงานปีต่อปี ก็อาจปรับเป็น 5-10 ปี สามารถกู้เงิน ใช้หลักฐานไปติดต่อสถาบันการเงินได้ ค่าแรงก็เพิ่มขึ้น 120% ลาศึกษาต่อ ลาหยุดได้ ขึ้นเงินเดือนทุกปี มีความก้าวหน้าในหน้าที่ ส่วนสวัสดิการครอบครัวจะพยายามหารูปแบบที่เหมาะสมให้
"ผมเข้าใจว่าน้องๆ ตกระกำลำบากมานาน เราพยายามหาทางออกให้อย่างดีที่สุด วินวินกันทุกคน เรื่องนี้ต้องเสร็จภายในเดือนพ.ย. นี้ คือได้ข้อตกลงที่จะเดินหน้าต่อ แต่การบรรจุเป็นข้าราชการต้องดูข้อบ่งชี้ว่าจะเลือกใครมาก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเดือน จากการหารือน้องๆ เห็นด้วยในหลักการ เพียงแต่ยังไม่เข้าใจว่าสวัสดิการที่ดีขึ้นคืออะไรก็ต้องไปคุยรายละเอียดกัน" นพ.ประดิษฐ กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้จะทำในรูปแบบของคณะทำงานที่มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา ทั้งลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบของสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจร่วมกัน โดยเฉพาะหากมีการปรับเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างชั่วคราว เป็นพนักงาน ก.สธ. ต้องให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน ผมไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะหาทางออกไม่ได้ เพราะการตั้งคณะทำงานและพูดคุยร่วมกัน เป็นไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด คิดว่าจะสามารถตกลงกันได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่ยอมบรรจุตำแหน่งข้าราชการ แต่เป็นปัญหาอัตรากำลังคนของทั้งประเทศ ทำให้ต้องคิดร่วมกัน ทั้งเรื่องการเงินการคลัง งบประมาณ และบุคลากรยันต้องบรรจุเป็นข้าราชการ
นายสราวุฒิ ทีดี ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการหารือในวันนี้ (7 พ.ย.) ทาง สธ.มีข้อเสนอให้กับพยาบาลลูกจ้าง สธ. 3 ข้อ คือ 1.บรรจุเป็นข้าราชการ 2.ให้เป็นพนักงาน สธ. (ก.สธ.) และ 3.คงการเป็นลูกจ้างชั่วคราว สำหรับผู้ที่ต้องการรอบรรจุเป็นข้าราชการในอนาคต แต่ทางเครือข่ายยืนยันว่าพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวทุกคนต้องได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทั้งหมด โดยทาง สธ.จะบรรจุให้ปีละเท่าไหร่ก็ได้ตามตำแหน่งว่างที่ได้มา เช่น ปีละ 5,000 ตำแหน่ง เป็นต้น
นายสราวุฒิ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 22 พ.ย. นี้ จะมีการประชุมสมาคมพยาบาลวิชาชีพแห่งเอเชียแปซิฟิก โดยนำวิกฤติพยาบาลไทยเป็นหัวข้อในการหารือ และในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศยกระดับการต่อสู้ให้เข้มข้นขึ้น ตั้งแต่การหยุดงานไปจนถึงการลาออกพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ทางเครือข่ายฯ ได้ส่งหนังสือล่ารายชื่อพยาบาลลูกจ้างทั้งหมดทั่วประเทศมาร่วมสนับสนุนแล้ว ล่าสุดมีผู้เห็นด้วยแล้วทั้งหมด 1 หมื่นราย "ยืนยันว่าเราไม่เอาระเบียบว่าด้วยการเป็นพนักงาน สธ. แม้ว่าจะให้สวัสดิการจะมากขึ้น แต่ไม่แน่ใจ เพราะในนั้นระบุว่าให้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลมาเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ซึ่งไม่มีความแน่นอน เพราะบางโรงพยาบาลขาดทุนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเงินที่มาจากส่วนกลางเราสามารถยอมรับได้ แต่ต้องให้เท่ากันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานะ ค่าจ้าง โอที ทุกอย่างต้องเท่ากัน" นายสราวุฒิ กล่าว และว่า เราไม่ได้เอาคนไข้เป็นตัวประกัน แต่ขอให้เห็นใจพยาบาลลูกจ้างด้วย พยาบาลยังไม่รับข้อเสนอ
ด้าน นายเอกชัย ฝาใต้ พยาบาลรพ.กันทลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวไม่อาจยอมรับในหลักการที่ สธ. เสนอได้ เนื่องจากเห็นว่าอัตราการบรรจุเป็นข้าราชการที่จะได้ทันที 4,000 คน ไม่ได้เป็นอัตราเฉพาะพยาบาลเท่านั้น แต่รวมถึงลูกจ้างชั่วคราวของสธ.ในวิชาชีพและสาขาอื่นด้วย หากคิดเฉพาะพยาบาลในจำนวนนี้อาจได้บรรจุราว 1,000 คน และเป็นการบรรจุให้กับพยาบาลลูกจ้างที่ทำงานมา 6-7 ปีก่อน ซึ่งไม่ถึง 10% ของจำนวนพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดที่มีอยู่ 17,000 คน เท่ากับคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา การดำเนินการตามข้อเสนอของ สธ.จึงเป็นเหมือนการขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น การเกลี่ยผู้ที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการให้เป็นพนักงาน สธ. นั้น ยอมรับได้หากวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ ทันตแพทย์จะเป็นพนักงาน สธ. เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะพยาบาลที่เป็นพนักงาน สธ.แต่วิชาชีพอื่นยังคงได้รับการบรรจุ เพราะเท่ากับยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่เช่นเดิม
"จากนี้เครือข่ายพยาบาลฯจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ในขั้นแรกยังยืนยันเช่นเดิมให้มีการบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้ง 17,000 คนเป็นข้าราชการทันที ทั้งนี้ มีความเป็นได้ที่หลังจากเดือนม.ค. 2556 ที่มีการบรรจุลูกจ้างเป็นข้าราชการผ่านพ้นไป พยาบาลอาจรวมตัวกันมาประท้วงอีกครั้ง หรือ หยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศ หรือ ลาออก" นายเอกชัย กล่าว
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2555
- 19 views