เปิดวิสัยทัศน์ รพ.กรุงเทพ หวังเป็น 'พี่ใหญ่' กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม) มองไกลใช้อาเซียนเป็นสะพานจับลูกค้าจีนตอนใต้ แบ่งเค้กกลุ่ม IHH กินตลาด 'อาเซียนตอนล่าง' "หมอเสริฐ" กุมตลาด 'อาเซียนตอนบน
หลายปีที่ผ่านมา นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการแทบจะ "ฉายเดี่ยว" กับบทบาทกุมบังเหียนบริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยนโยบาย "ไล่ซื้อดะ" หุ้นโรงพยาบาลอื่น จนกลายเป็น โรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียแปซิฟิค เป็นรองกลุ่ม Integrated Healthcare Holdings Berhad (IHH) ของรัฐบาลมาเลเซียที่แซงหน้าไปเร็วๆ นี้
อาณาจักรของหมอเสริฐปัจจุบันมีมูลค่ารวม (มาร์เก็ตแคป) 168,455 ล้านบาท ประกอบไป ด้วย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลที่ลงทุนถือหุ้นใหญ่แต่ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารอีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลกรุงธน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ โรงพยาบาลเอกอุดร
ภายหลังกลุ่ม นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ขายคืนหุ้น BGH จำนวน 264.54 ล้านหุ้น สัดส่วน 17.12% ที่ราคาหุ้นละ 104.50 บาทให้กับกลุ่ม นพ.ปราเสริฐ ที่รับซื้อไว้เองเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นจุดเริ่มต้น "นิว สตอรี่" ของ รพ.กรุงเทพ ที่มีแผนบุกยึดตลาดอาเซียนอย่างเต็มตัว ภายใต้การบริหารของหมอเสริฐ แต่เพียงผู้เดียว
"การขายหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม (กลุ่มหมอพงษ์ศักดิ์) ไม่กระทบต่อแผนงานและเป้าหมายแน่นอน ตอนนี้ เราเดินทางมาไกลกว่าที่จะหยุดเดินแล้ว" นพ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek
มือขวาหมอเสริฐวัย 67 ปี ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "เสี่ยวเอ้อ" (ผู้บริหารมืออาชีพ) อาสาถ่ายทอดแผนงาน ของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ แทนหมอเสริฐว่า ทางกลุ่มมีเป้าหมายชัดเจนจะยึดตลาด "อาเซียนส่วนบน" ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม โดยประเทศไทยจะเป็น"พี่ใหญ่" รับคนไข้มาจากประเทศเหล่านี้
"ฝั่งอาเซียนตอนล่างอีก 5 ประเทศ เขามีกลุ่ม IHH ของมาเลเซียครองตลาดอยู่ เราคงไม่ลงไปวุ่นวายกันมากนัก ต่างคนต่างแบ่งกันไป ถ้าเขาแหยมขึ้นมาเล่นตลาดอาเซียน ส่วนบน เราก็ต้องปกป้องดูแลพอสมควรเหมือนกัน"
ถามตรงๆ ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีกำลังทรัพย์แค่ไหน!! หมอชาตรี รีบตอบว่า เฮ้ย!!คุณอย่าไปดูถูกเขาพวกนี้จะจนอีกไม่นานหรอกกัมพูชาก็ใช่ย่อย ลาวก็พอสมควร พม่าไม่ต้องพูดถึงตอนนี้โรงพยาบาลกรุงเทพรับคนไข้พม่าเป็นอันดับสองรองจากตะวัน-ออกกลางแล้วรู้ไหม.สิ่งที่ รพ.กรุงเทพมองไกลมากกว่าอาเซียนคือ "ตลาดจีนตอนใต้"
แม้ว่าตอนนี้จะมีความร่วมมืออาเซียนบวกสามบวกหกก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วใครที่สามารถจับตลาดจีนได้ก็จบ เพราะตอนนี้กำลังเป็นเป้าหมายที่ต้องการของทุกคน ดังนั้นการที่เราเลือกที่จะยึดตลาดอาเซียนส่วนบนถือว่าถูกต้องแล้วดีกว่าอยู่ข้างล่าง
"นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องรุกเปิดโรงพยาบาลทางตอนเหนือเพราะตอนนี้จีนกำลังลงมาที่พม่ากับลาวอยู่ ถ้าเรานำสาขาไปใกล้กับพม่ากับลาวได้ก็จะใกล้กับจีนได้มากขึ้น นี่คือการใช้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้เกิดประโยชน์ใช้โรงพยาบาลติดชายแดนเป็นหน้าด่าน"
ปัจจุบัน รพ.กรุงเทพ มีสาขาที่ตั้งอยู่จังหวัดชายแดน เช่น เชียงใหม่ จะรองรับคนไข้จากประเทศพม่า อุดรธานีรับคนไข้จากลาว หาดใหญ่รับคนไข้จากมาเลเซีย ส่วนที่หัวหินก็มีรับคนไข้ต่างชาติบ้างแต่ยังไม่ชัด ตอนนี้กำลังจับตาว่าโครงการท่าเรือทวายที่กำลังจะสร้างจะเป็นโอกาสที่จะสร้าง โรงพยาบาลแถวๆ นั้นได้ไหม สำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ตามชายแดนจะเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลทั้งหมดและใช้แบรนด์ รพ.กรุงเทพ เอง ถ้าคนไข้เคสหนักๆ ก็จะมีการส่งต่อมารักษาตัวที่กรุงเทพฯได้เช่นกัน
ถามว่าประเทศไหนในอาเซียนที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด หมอใหญ่ บอกว่า แน่นอนต้องเป็น "พม่า" เพราะจะเป็นช่องทางต่อไปถึงประเทศจีนตอนใต้ได้ ที่สำคัญหลังการเปิดประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างมาก อย่างที่ท่านประธาน (หมอเสริฐ) เคยบอกไว้นานแล้วว่าเราจะไปสร้างโรงพยาบาลระดับห้าดาวจำนวน 100 เตียง ที่ย่างกุ้ง ตอนนี้ก่อสร้างไปแล้ว 80% จากที่ต้องหยุดสร้างไปนานสองปีเพราะมีปัญหาการเมืองภายในต้องเอาผ้าไปคลุมปิดไว้ คาดว่าจะเปิดบริการได้อีก 10 เดือน งบประมาณที่ใช้ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท
ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลกรุงเทพ แต่เครือข่าย ที่มีอยู่ เช่น พญาไท เปาโล สมิติเวช รวมถึงโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่เข้าไปซื้อกิจการมาก็จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การบุกตลาดอาเซียนด้วยเช่นกัน นโยบายคือจะเคารพใน "แบรนด์" ของแต่ละราย เวลาที่จะไปทำธุรกิจในต่างประเทศก็จะไม่บังคับว่าต้องไปในชื่อของโรงพยาบาลกรุงเทพให้ใช้ชื่อตัวเองได้ เพียงแต่ "ส่วนกลาง" จะเข้ามาช่วยดูแลไม่ให้เกิดความสับสน อีกอย่างถ้าออกไปกันเองค่าใช้จ่ายจะสูงมากเราจะมาควบคุมในจุดนี้ อนาคตจะบริหารแบบรวมศูนย์มากขึ้นตอนนี้เราได้มอบหมายแผนงานในผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือไปทำแผนมาแล้วว่าจะลงทุนอะไรบ้างแล้วค่อย มาคุยกันแล้วเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ถามว่าโรงพยาบาลกรุงเทพยังมีนโยบาย ที่จะ "ซื้อกิจการ" ต่อหรือไม่!! นพ.ชาตรี บอกว่า ถ้ามีโอกาสก็ซื้อ ถ้าเจออะไรดีๆ รพ.กรุงเทพ ไม่รีรอที่จะเข้าไปลงทุนหรือซื้อกิจการแน่นอน นโยบายของเราจะคิดเร็วทำเร็วก่อนโอกาสจะหลุดไป เหมือนกับต่อยมวยเราต้องเข้าคลุกวงในเป็นฝ่ายรุกมากกว่าเต้นฟุตเวิร์ครออยู่รอบๆ
นพ.ชาตรี กล่าวว่า นโยบายเราต้องการให้บริการคนไข้ทั่วถึงทั่วประเทศ อย่างเช่นโรงพยาบาลสุนทรภู่ จังหวัดระยองเขาสร้างไม่เสร็จเราก็ไปช่วยเขาสร้างแต่ยังใช้ชื่อเดิมของเขาต่อ แต่ประเด็นสำคัญ นอกเหนือจากการซื้อกิจการเพื่อขยายตลาดแล้วมันยังมีการขยายใน "เชิงลึก" ด้วย เช่นในเขต ต่างจังหวัดอย่างภาคตะวันออกมีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะมาก เป็นไปได้ว่าอาจจะตั้งโรงพยาบาลแบบ "โลว์คอส" ก็เป็นไปได้ คงไม่ใช้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพกลัวคนจะสับสน
นอกจากนี้ยังมีแผนการตลาดที่เกี่ยวข้องกับ "สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส" (ธุรกิจในกลุ่มปราสาททองโอสถ) มากขึ้น เช่นตอนนี้บางกอกแอร์เวย์สจะไปลงที่เวียงจันทร์ เราก็มองๆ อยู่ อย่างตอนนี้เราก็ร่วมงานกับเขามานานแล้ว ทำการตลาดร่วมกันอย่างมีส่วนลดให้คนไข้ที่บินมารักษากับเรา เป็นต้น
ถามถึงเป้าหมายของโรงพยาบาลกรุงเทพ นพ.ชาตรี บอกว่าคงไม่คิดจะไปแข่งกับกลุ่ม IHH ที่มีรัฐบาลมาเลเซียหนุนหลังอยู่เพราะเขาทุนหนากว่า ตอนนี้กำลังฮึกเหิมทีเดียวเห็นว่าจะไปดึงกลุ่มทุนโรงพยาบาลจากตะวันตกมาร่วมด้วย แถมเทมาเส็ก (กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์) ก็สนใจที่จะลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลอีก ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเราจะ ด้อยไปกว่าเขา ยิ่งความสามารถของแพทย์ไทย ไม่ได้แพ้ใครบนโลกนี้แถมค่ารักษาก็ไม่ได้แพงมาก ด้วย
สำหรับรายได้รวมปีนี้ คาดว่าจะโตได้ 13% จากปี 2554 ที่มีรายได้รวม 37,752 ล้านบาท ทางกลุ่มมีเป้าหมายจะรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ "เลขสองหลัก" ทุกปี แม้จะยากเพราะฐานรายได้ โตขึ้นทุกปี พอถึงปี 2558 เราตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็น "สามอันดับแรก" ของกลุ่มโรงพยาบาลในอาเซียน จากตอนนี้ถ้านับในระดับโลกเราเป็นที่ 4 เฉพาะเอเชียแปซิฟิคเราก็ที่ 3 การไปถึงเป้าหมายคิดว่า "ไม่ยาก" เลย
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 ตุลาคม 2555
- 95 views