กรมบัญชีกลาง ลั่น ปี 2556 เตรียมประกาศเดินหน้า 4 มาตรการควบคุมค่ารักษาพยาบาลเหตุถูกหั่นงบเหลือ 6 หมื่นล้าน เตรียมส่งข้อมูลดีเอสไอ หลังจากพบผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายเวียนรักษารับยา รพ.สูงถึง 600 ครั้งต่อปี ซ้ำเตรียมเช็คบิลเบิกจ่ายยาข้อเข่าย้อนหลังตรวจพบ 25% สั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยอายุต่ำเกณฑ์ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์กำหนด

นางอภิสมา ชาญสืบกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) ถึงแนวทางการควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่า ในปีงบประมาณ 2556 นี้ ทางกรมบัญชีกลางยังคงเดินหน้าประกาศใช้อีก 4 มาตรการที่เหลือจาก 8 มาตรการ เพื่อดำเนินการควบคุมค่ารักษาพยาบาลระบบสวัสดิการข้าราชการ

โดยมาตรการ 1.กำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มเป้าหมายที่มีการเบิกจ่ายจำนวนมาก ซึ่งยังเหลือการดำเนินการอีก 8 กลุ่ม ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการห้ามสั่งจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟตไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ รวมไปถึงการเบิกจ่าย 2.จัดทำระบบตรวจสอบก่อนอนุมัติเบิกจ่ายสำหรับยานอกบัญชีที่มีราคาแพง อย่างเช่น ยารักษาโรคมะเร็ง จากแต่เดิมกำหนดตรวจสอบเพียงแค่ 6 รายการ แต่เนื่องจากปัจจุบันยามะเร็งมีเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ จึงต้องมีการจัดทำรายการเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม

3.กำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีคณะทำงานเพื่อประสานไปยังราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายยากลุ่มนี้ และ 4.กำหนดแนวการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกแบบเหมาจ่าย โดยให้มีการตกลงราคา ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำการศึกษา โดยจะใช้เวลา 3 ปี แต่เบื้องต้นในปีแรกต้องมีการสื่อไปยังโรงพยาบาล เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะได้ทำการตั้งงบประมาณในปี 2557 ได้

"ประกาศทั้ง 4 ฉบับนี้ เป็นสิ่งที่กรมบัญชีกลางทำในปี 2556 รับรองออกแน่นอน เพราะที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ทำสัญญากับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ในการควบคุมค่ารักษาพยาบาล" นางอภิสมา กล่าว

สำหรับมาตรการ 4 ขั้น ที่กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2555 คือ 1. ประกาศให้มีการระบุถึงเหตุผลความจำเป็นในการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 2.ให้โรงพยาบาลส่งเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ 3.กำหนดให้ใช้ยาสามัญแทนยาต้นแบบ และ 4.กำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายค่ายานอกบัญชียาหลัก โดยห้ามไม่ให้มีการเบิกจ่ายตรง

พบขรก.เวียนรักษา600-700ครั้ง

นางอภิสมา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ออกประกาศให้ผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลเพียง 1 แห่ง ต่อ 1 โรคเรื้อรัง หรือทุกโรค เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษายังโรงพยาบาล 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ก็มี และยังมีบางคนเข้ารับบริการถึง 600-700 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนการรับการรักษาที่มีมากกว่าจำนวนวันภายในหนึ่งปี คนเหล่านี้ทางกรมบัญชีกลางได้ทำการรวบรวมข้อมูลแล้ว พร้อมทั้งขอข้อมูล เวชระเบียนไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเหล่านี้เข้ารับบริการ เพื่อดูว่าเขาเป็นโรคอะไร จึงมีการเข้ารับบริการรักษาที่สูงขนาดนี้ ถือเป็นสิ่งผิดปกติ และเตรียมที่จะส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบ

"มีอยู่รายหนึ่ง เข้านอนรักษาที่ โรงพยาบาลข้างๆ โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วงเช้ามักเดินไปโรงพยาบาลรามาธิบดี และจะกลับมาตอน 10 โมงเช้า โดยมีห่อยามาวางที่บนโต๊ะผู้ป่วย ซึ่งพยาบาลสังเกตเห็นและแอบเปิดห่อยาดู พบว่ามียาถึง 17 รายการ ทั้งยังเป็นรายการยาซ้ำๆ กันหลายขนาน จึงได้ส่งข้อมูลมายังกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบ เราจึงได้ทำเรื่องถึงโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อชี้แจงกรณีนี้"

"เราไม่ได้ว่าแพทย์ยิงยา แต่แพทย์อาจรู้สึกใจอ่อน เห็นผู้ป่วยมาจึงจัดยาให้ เราจึงสะท้อนปัญหาไปยังผู้บริหารกรมบัญชีกลาง และเห็นว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงควรเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งใดเพียงแห่งเดียว ทั้งยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้ป่วยในการรักษาต่อเนื่อง ไม่รับยาซ้ำซ้อน" นางอภิสมา กล่าว

ผ่อนปรนเงื่อนไข1รพ.1ผู้ป่วยเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับการทักท้วงมาตรการนี้จากกระทรวงสาธารณสุข เพราะขัดแย้งต่อนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยจะเลือกเข้ารับรักษาแต่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งยังกระทบต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อาจทำให้จำนวนผู้เข้ารับบริการลดลง

ดังนั้น ทางผู้บริหารกรมบัญชีกลางจึงให้ผ่อนคลายเลื่อนการประกาศบังคับใช้มาตรการนี้ไปก่อน และให้กระทรวงสาธารณสุขปรับระบบเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ รพ.สต.ได้ แต่ทั้งนี้การเปิดให้ผู้ป่วยลงทะเบียนเลือก 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง หรือทุกโรค ยังคงเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค. 2555 เช่นเดิม

จ่ายยากลูโคซามีนฯต่ำกว่าเกณฑ์

ส่วนยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม หรือ กลูโคซามีนซัลเฟต ที่ทางกรมบัญชีกลางได้ประกาศห้ามเบิกจ่ายไปแล้วนั้น เนื่องจากข้อมูลรายงานที่ทางราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย นำเสนอมานั้น ไม่สามารถหักล้างข้อมูลคณะทำงานในการศึกษาความคุ้มค่าการสั่งจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟตได้ นอกจากนี้ทางกรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเรียกเงินคืนจากแพทย์ผู้สั่งจ่าย ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การสั่งจ่ายยา กลูโคซามีนซัลเฟตตามที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ กำหนด

โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การสั่งจ่ายให้เฉพาะผู้ป่วยอายุ 56 ปีขึ้นไป แต่พบว่าใบเสร็จที่นำมาเบิกค่ารักษา ร้อยละ 25 เป็นผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 56 ปีลงมาทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีการสั่งจ่ายจำนวนยาเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 6 สัปดาห์ แต่กลับมีการสั่งจ่ายยาสูงถึง 3 เดือน

มาตรการทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยในปี 2554 เราได้งบรักษาพยาบาลข้าราชการที่ 62,000 ล้านบาท ใช้ไปถึง 61,844 ล้านบาท และต่อมาในปี 2555 เราได้งบประมาณที่ 61,844 ล้านบาท ขณะนี้กำลังดูว่าจะเกินงบประมาณที่ได้รับหรือไม่ สำหรับในปี 2556 นี้ เราได้รับงบประมาณอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ซึ่งถูกลดลงไปอีก การควบคุมค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 ตุลาคม 2555