สธ.หวั่นคอตีบระบาดลามทั่วประเทศ สั่งระดมฉีดวัคซีนกว่า 1 ล้านโด๊ส ให้เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านในเขตภาคอีสานตอนล่าง สกัดโรคเต็มที่รับฤดูท่องเที่ยว ระบุปี 2551 -2553 เคยระบาดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เด็กตาย 24 ราย
จากสถานการณ์โรคคอตีบที่หายไปจาประเทศไทยนานกว่า 17 ปีแล้วกลับมาระบาดใหม่โดยเฉพาะในเขต 9 จังหวัดภาคอีสาน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งระดมกำลังทีมควบคุมโรค เข้าควบคุมการระบาดในพื้นที่ หลังจากที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 87 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ล่าสุด นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อสั่งการให้มีการควบคุมการระบาดของโรคด้วยตนเอง ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมราชการ ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ว่าพบผู้ป่วยโรคคอตีบ ที่ จ.หนองบัวลำภู จำนวน 12 ราย จากทั้งหมด 87 รายที่พบในภาคอีสานทั้งหมด โดยขณะนี้พบผู้ป่วยแล้วใน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ และสกลนคร
รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้การระบาดแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นในประเทศ ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด เร่งรัดการดำเนินงานตามมาตรการในการควบคุมโรค 3 มาตรการหลักๆ อย่างต่อเนื่อง คือ 1. ควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว โดยใช้วิธีเอกซเรย์ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน หากพบให้ดำเนินการสอบสวนโรคทันที และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมถึงการตัดวงจรการแพร่เชื้อของโรค โดยการสำรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดและพาหะนำโรค 2. สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เข้มแข็งโดยการเร่งรัดการให้วัคซีนให้ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ใหญ่ที่คาดว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบ และ 3. สร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกภาคส่วนโดยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคคอตีบ“ขณะนี้ได้มีการสนับสนุนวัคซีนเพื่อฉีดให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดไปแล้วกว่า 1 ล้านโด๊ส โดยอนุมัติผ่านจังหวัดหนองบัวลำภู 2 แสนโด๊ส อุดรธานี 3 แสนโด๊ส และ เลย 5 แสนโด๊ส เพื่อกระจายไปยังอีก 6 จังหวัดให้ครบ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การระบาดของโรคแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ” นพ.สุรวิทย์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้มีการตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค อย่างใกล้ชิด ทั้งในพื้นที่การระบาดขณะนี้และในส่วนกลาง
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ส่งทีม SRRT หรือ ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 17 ทีม ลงพื้นที่เพื่อเข้าควบคุมป้องกันโรคอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งแนะนำและระดมฉีดวัคซีนเพื่อสกัดกั้นแล้ว เนื่องจากขณะนี้กำลังจะสิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูหนาว อาจมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังจังวัดทั้ง 9 จังหวัดเพื่อท่องเที่ยวในช่วงนี้ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอยู่มาก ยืนยันว่า กรมควบคุมโรคได้เข้าควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและจะพยายามสกัดกั้นไม่ให้ระบาดไปในพื้นที่อื่นๆ
ขณะที่ ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคคอตีบจะพบมากในเด็กทั้งเพศชายและหญิงที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนโดยในผู้ใหญ่มีพบอยู่บ้างแต่น้อยมาก เนื่องจากในผู้ใหญ่จะได้รับ วัคซีน DPT ซึ่งเป็นการฉีดรวมกันในเข็มเดียว ได้แก่ ไอกรน บาดทะยัก และคอตีบอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามีการพบโรคคอตีบจริง ก็ต้องมีการกำหนดมาตรการในการดูแลผู้ป่วย เช่น คนที่ป่วยโรคคอตีบต้องไม่อยู่ในที่แออัด ไอจามต้องปิดปาก มีการแยกคนไข้ออก ทำการซักประวัติ หาสาเหตุการเป็นโรคคอตีบ และหาประวัติคนใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อทำการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วคอยเข้าตรวจสอบและควบคุมโรคอยู่แล้ว
ศ.นพ.อมร กล่าวต่อว่า กรณีที่พบการระบาดของโรคคอตีบอีกครั้งทั้งๆ ที่หายไปจากประเทศไทยกว่า 17 ปี กระทรวงสาธารณสุขควรที่จะมีการทบทวนมาตรการเรื่องการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดซ้ำในผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่แออัดและขาดสุขอนามัย รวมถึงในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำด้วย เพราะในสหรัฐอเมริกาจะมีการฉีดวัคซีนซ้ำทุกๆ 10 ปี ซึ่งถ้ามีการพบผู้ป่วยมากถึง 87 รายควรต้องเร่งทำการศึกษากลุ่มผู้ป่วยว่าจำนวนผู้ป่วยช่วงอายุใดมากที่สุด เพื่อจะได้ทำการควบคุมได้ถูกกลุ่ม ทั้งนี้ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนให้เด็กทุกคน ดังนั้น โรคคอตีบอาจมาจากแรงงานต่างด้าวที่นำเชื้อเข้ามา ส่วนเรื่องที่เกรงว่า การกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้ง อาจมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ เชื่อว่าขณะนี้ ยังไม่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อ สำหรับโรคคอตีบ ก่อนที่จะมีการระบาดในภาคอีสาน เมื่อปี 2551 -2553 เคยมีการระบาดมาแล้วครั้งหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 24 ราย ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 24 views