ไม่น่าเชื่อว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ ไม่ขาดแพทย์ ก็ขาดพยาบาลล้วนสะท้อนปัญหากำลังคนของด้านระบบสาธารณาสุขทั้งสิ้น แต่ครั้งนี้วิกฤติที่แสดงผลออกมาให้เห็นชัดเจนคือ พยาบาลที่ปัญหาซับซ้อนและสะสมมานาน

ปัญหาขาดแคลนครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตไม่พอซึ่งในแต่ละปีวิทยาลัยพยาบาลสามารถผลิตพยาบาลได้มากถึง 8,500คน แต่ยังไม่พอ เพราะปัญหาสมองไหล แม้ว่ารัฐจะผลิตพยาบาลได้มากขนาดไหน แต่ดูเหมือนว่า ภาระงานหนัก และระบบสวัสดิการ ที่หลังเรียนจบทำงานโรงพยาบาลรัฐเป็นแค่พนักงานชั่วคราวบางครั้งรอตำแหน่งข้าราชการนานกว่า 10 ปี

ยิ่งเมื่อหันมาดูเรื่องรายได้ พบว่า รายได้พยาบาลโรงพยาบาลเอกชนมากกว่ารพ.รัฐจำนวนมากทำให้ พยาบาลจบใหม่เข้าไปทำงานในโรงพยาบาลรัฐเพียงแค่เป็นโรงเรียนฝึกพอเข้าที่เข้าทางส่วนใหญ่จะขยับขยาย ออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน เพราะนอกจากงานไม่หนักแล้วรายได้ดีอีกด้วย

จึงไม่แปลกในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลรัฐ ต่างแย่งตัวพยาบาลด้วยการควักเงินบำรุงโรงพยาบาล ตั้งโต๊ะตกเขียว พยาบาลที่ใกล้เรียนจบ จับเซ็นสัญญาพร้อมกับเสนอรายได้ที่แม้จะไม่เท่ากับโรงพยาบาลเอกชนแต่ก็ถือว่าดีไม่น้อยกับพยาบาลพึ่งจบใหม่

การออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสัญญาบรรจุตำแหน่ง 1.7 หมื่นตำแหน่งของพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ จึงสะท้อนปัญหากำลังคนของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งชัดเจนว่ากระทบต่อคุณภาพการรักษา  โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการผ่าตัดใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่หมอต้องเชี่ยวชาญเท่านั้นหากปัญหาในเรื่องทีมผ่าตัดที่รวมถึงพยาบาลด้วย

แพทย์รายหนึ่งบอกว่า เมื่อไม่นานมานี้เขาเกือบจะผ่าตัดไม่ได้เพราะไม่มีพยาบาลที่เชี่ยวชาญพอจะร่วมเข้าห้องผ่าตัดด้วยว่าเขาไม่ได้ต้องการพยาบาลจบใหม่อายุงาน 1-2 ปีเท่านั้น แต่ต้องการพยาบาลที่มีความชำนาญ แต่ปัญหาพบว่าระบบของกระทรวงไม่สามารถรักษาคนเหล่านี้เอาไว้จึงทำให้มีทั้งขอลาออกจำนวนมาก

จะพบว่าข้อมูลของสภาการพยาบาลปัจจุบันมีพยาบาลที่ประกอบวิชาชีพที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีอยู่ที่ประมาณ 150,000 กว่าคน แต่ในจำนวนนี้ทำงานใน ระบบบริการจริงๆ ประมาณ 130,000 กว่าคน ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาสามารถผลิตพยาบาลได้ 8,000 - 9,000 คนต่อปีและ คาดว่าตั้งแต่ปี 2556 - 2560 จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตพยาบาลได้ 10,000 คนต่อปี แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการพยาบาลที่คาดการณ์ว่า ในปี  2560 ความต้องการพยาบาลจะเพิ่มมากถึง 50,000 คน (ในสัดส่วนจำนวนประชากร 70 ล้านคน)

และการศึกษาพบว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีการหมุนเวียน เข้าออกของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเป็นประจำ โดยเฉพาะในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพอายุน้อยที่เข้ามาทำงานใหม่ไม่เกิน 5 ปี โดยในพอสิ้นสุดปีแรก 50 เปอร์เซ็นต์ของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่เข้ามาทำงานใหม่ลาออกส่วนใหญ่ไปอยู่ภาคเอกชน

พอเข้าสู่ปีที่สองและยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการก็จะ ลาออกอีกประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีบางส่วนทยอยบรรจุเป็นข้าราชการ แต่การบรรจุนั้นเป็นการบรรจุทดแทนผู้ที่เกษียณ อายุหรือผู้ที่ลาออกจากราชการไม่ได้มีอัตราตั้งใหม่

ปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุขจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข โดย นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คงต้องออกแรงหาทางออกปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ตุลาคม 2555