สมัชชาสุขภาพ พบแรงงานข้ามชาติในไทย 4 ล้านคน เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ เสนอ สธ. ปรับนโยบาย "นำแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพ" ชี้ช่วยระบบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเติบโต ขณะที่รพ.อุ้มผาง-รพ.สมุทรสาคร" แบกรับค่ารักษาปีละ 28 ล้านบาท
คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ คณะอนุกรรมการสนับสนุนการนำมติสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 WHO Global Code of Practice on International Recruitment of Health Personnel ไปสู่การปฏิบัติ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคมเสวนา "สุขภาพแรงงานข้ามชาติ ทางออกที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ"
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติในระบบบริหารสาธารณสุขของไทย เป็นสิ่งที่เราต้องเร่งทำความเข้าใจกับสถานการณ์ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกลุ่มผู้ให้บริการภาครัฐและเอกชน ในการให้บริการสุขภาพกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติและกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมข้อเสนอในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค เพื่อนำไปพัฒนาและหาทางออกที่เหมาะสม รองรับการเพิ่มขึ้นของแรงงานและผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตพบแรงงานข้ามชาติ 4 ล้านคน
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ตัวเลขจากสำมะโนประชากรและการเคหะในปี 2553 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยประมาณ 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ขณะที่ตัวเลขจากนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ คาดการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย น่าจะมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 4 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงว่าจะเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องจัดบริการสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ เพราะสถานพยาบาลหลายแห่งต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางการเงิน
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้บริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายสุขภาพไม่ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งต้องการบริการด้านสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ส่งผลให้ภาระในการดูแลสุขภาพของประชาชนกลุ่มนี้ต้องตกอยู่กับสถานพยาบาล ซึ่งทางออกเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของไทยในยุคที่ประเทศต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาตินั้น เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องปรับนโยบายและการวางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยต้องคำนวณโดยเอาตัวเลขของแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติช่วยเศรษฐกิจไทยเติบโต
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า จากการศึกษาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ในปี 2550 พบว่าแรงงานต่างด้าวได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย ประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท โดยส่งผลต่อมูลค่าในภาคอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 7-10 และในภาคการเกษตร ประมาณร้อยละ 4-5 ดังนั้นถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะไม่ได้มีส่วนในการจ่ายภาษีหรือร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ได้สร้างความเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกสินค้าและบริการ
"ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้สิทธิเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีสิทธิซื้อประกันสุขภาพ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ " นพ.ระพีพงศ์ กล่าวสมาชิกกองทุนสุขภาพต่างด้าวน้อย
นพ.ระพีพงศ์ กล่าวต่อว่า แม้ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดสวัสดิการการดูแลสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ ในรูปแบบของกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ปี 2543 โดยแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ในราคา ปีละ 1,900 บาท เพื่อรับสิทธิในการเข้ารับบริการตรวจและรักษาสุขภาพ แต่พบว่าแรงงานข้ามชาติซื้อประกันสุขภาพจำนวนน้อยมาก ซึ่งในปี 2555 พบว่าแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ประมาณ 5.2 แสนคนเท่านั้นรพ.สมุทรสาคร แบกรับค่ารักษา
นางสาวณหทัย จุลกะรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัญหาที่โรงพยาบาลสมุทรสาครกำลังประสบพบเจออยู่ในขณะนี้ คือการแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขาภาพของแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ อุ้มผางขาดทุนปีละ 28 ล้านบาท
ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่า โรงพยาบาลอุ้มผาง ต้องรับผิดชอบรักษาประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยมากกว่าประชากรที่มีสัญชาติไทย ทำให้ทางโรงพยาบาลต้องประสบกับวิกฤติทางการเงิน ขาดทุนประมาณปีละ 27-28 ล้านบาท ต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นทางรัฐบาลควรต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถทำหน้าที่รักษาเพื่อมนุษยธรรม
"ระหว่างรอนโยบายแก้ปัญหาระยะยาว ทางรัฐบาลต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผมด้วย ดังนั้นระบบสุขภาพในประเทศไทยจะยึดเรื่องพรมแดนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะขนาดเชื้อโรคก็ยังไม่มีพรมแดน" นพ.วรวิทย์ กล่าว
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ตุลาคม 2555
- 9 views