"ศิริราช"เสนอแยกคำนวณดีอาร์จี-บัญชียาหลักแห่งชาติ โรงเรียนแพทย์-รพ.ตติยภูมิ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เหตุเป็นหน่วยรับส่งต่อรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน ทำค่าใช้จ่ายรักษาพุ่ง หวั่นนโยบายคงงบเหมาจ่ายรายหัว 3 ปี ซ้ำเติมปัญหางบ ที่ขาดทุนปีละ 500 ล้าน "คณบดีแพทย์ มข."แนะรัฐเพิ่มงบจากผลกระทบเพิ่มค่าแรง-เงินเดือน รวมถึงราคายา-เวชภัณฑ์ขยับขึ้น
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้คงงบเหมาจ่ายรายหัวระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในอัตรา 2,755 บาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 ว่า กระทบต่อโรงพยาบาลแน่นอน ไม่เฉพาะศิริราชเท่านั้น ซึ่งเดิมโรงพยาบาลศิริราชขาดทุนอยู่แล้ว 400-500 ล้านบาทต่อปี ทั้งจากระบบบัตรทองและระบบประกันสังคม และเมื่อคงงบเหมาจ่ายย่อมส่งผลกระทบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล โดยออกมาตรการต่างๆ ให้ปฏิบัติ ซึ่งศิริราชก็พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายช่วยรัฐบาลมากที่สุด แต่ต้องเข้าใจว่า โรงพยาบาลตติยภูมิอย่างโรงเรียนแพทย์ จะใช้เกณฑ์การจ่ายเงินรักษาเดียวกับโรงพยาบาลระดับอื่นไม่ได้ เพราะเป็นโรงพยาบาลเน้นรับส่งต่อผู้ป่วยรักษาโรคซับซ้อน ค่ารักษาย่อมสูงกว่า ทั้งเครื่องมือแพทย์ ค่ายา และบุคลากร จึงไม่ควรจ่ายค่ารักษาจากฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายเหมือนกัน "ทำคลอดที่โรงพยาบาลชุมชนใช้หมอ 1 คน พยาบาล 1 คน แต่มาตรฐานโรงเรียนแพทย์มีสูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลที่ดูแล 2-3 คน ที่เป็นมาตรฐานระดับสากล แค่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรก็ต่างกันแล้ว และการจะให้โรงเรียนแพทย์ลดมาตรฐานการรักษาเท่ากับโรงพยาบาลในต่างจังหวัด คงทำไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีโรงพยาบาลตติยภูมิเพื่ออะไร"
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า การรวมกองทุนรักษาพยาบาลทำไม่ได้ เพราะติดปัญหากฎหมาย แต่ที่ผ่านมามีการจัดการที่กระบวนการแทน ตั้งคณะกรรมการกลางทำหน้าที่โบรกเกอร์คอยกำหนดมาตรฐานบริการ อัตราค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล รวมไปถึงจัดซื้อยา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในระบบบริการมากขึ้น เพราะเป็นการบีบมาตรฐานการรักษาที่ไม่ได้อยู่บนความเป็นจริง จึงควรมีการแบ่งระดับโรงพยาบาลเพื่อคิดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในการคำนวณดีอาร์จี (ระบบการวินิจฉัยโรคร่วม) และเท่าที่ทราบกำลังจะมีการใช้ดีอาร์จีกับผู้ป่วยนอกเช่นเดียวกับผู้ป่วยใน หากเป็นเช่นนั้นจริงจะก่อให้เกิดปัญหาแน่นอน"แนะแยกบัญชียา รพ.ทั่วไป-รพ.ตติยภูมิ
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับการใช้ยาที่ไม่ควรกำหนดทุกโรงพยาบาลต้องใช้ยาบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกัน ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงในการรักษาพยาบาล เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคซับซ้อน ต้องใช้ยาที่มีคุณภาพและมั่นใจ หากเป็นไปได้ควรแยกบัญชียาโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลตติยภูมิ เพราะศักยภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแตกต่างกัน "ในการเบิกค่ารักษาเมื่อคำนวณดีอาร์จี ศิริราชจะอยู่ที่ 16,000 บาท เพื่อนำไปคำนวณกับเกณฑ์ค่าน้ำหนักโรค (ค่าอาร์ดับบลิว) แต่ข้อเท็จจริงกลับเบิกได้แค่ 4,000 บาท เพื่อคำนวณกับค่าอาร์ดับบลิว โดยบอกว่างบเหมาจ่ายรายหัวมีเท่านี้ และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาก็เช่นกัน ส่วนเงินต่างที่ไม่ได้ต้องลงบัญชีเป็นหนี้สูญ" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยอมรับด้วยว่า แต่ละปีศิริราชได้รับเงินบริจาคปีละ 400-500 ล้านบาทที่ช่วยชดเชยภาวะขาดทุน พร้อมจัดหารายได้ทดแทน อาทิ เปิดโรงพยาบาลปิยมหาราชการุณย์ ซึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลกระทบจากนโยบายรัฐและปล่อยเป็นภาระโรงพยาบาลแก้ไขปัญหากันเองชี้ทางออกปัญหา"เปิดให้ร่วมจ่าย"
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ทางออกปัญหา คือต้องเปิดให้มีการร่วมจ่ายของผู้ป่วย รัฐบาลเองต้องกล้าตัดสินใจ เพราะผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกินครึ่งสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ แต่รัฐบาลกลับบังคับไม่ให้จ่าย ถือเป็นเรื่องที่แปลก
"ที่ผ่านมารัฐบาลบอกว่าการรักษาพยาบาลในระบบกองทุนวันนี้มีมาตรฐานคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงศิริราชยังต้องยอมรับว่ามาตรฐานการรักษาเราเองเริ่มขยับลง แม้จะพยายามคงประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด และหากยังปล่อยไว้แบบนี้ เชื่อว่าระบบรักษาพยาบาลบ้านเราจะแย่งลงไปเรื่อยๆ แน่นอน"คณบดีแพทย์ มข.จี้รัฐเพิ่มงบเหมาจ่าย
ด้าน ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การคงงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย่อมส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลแน่ เพราะปัจจุบันงบรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว ซ้ำแต่ละปียังประสบภาวะขาดทุนนับร้อยล้านบาท
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลควรที่จะเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียนแพทย์มากกว่า เพราะจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศมา อย่างการเพิ่มค่าแรง 300 บาท การเพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ล้วนแต่เป็นการเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลทั้งสิ้น รวมไปถึงราคาค่ายาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์การแพทย์ที่ขยับเพิ่มขึ้นในทุกปี ดังนั้นการคงงบเหมาจ่ายรายหัวต่อเนื่อง 3 ปี ย่อมสร้างปัญหากับโรงพยาบาลแน่นอน ครวญรพ.บริหารจัดการยากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์พยายามปรับการบริหารเพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้มากที่สุด โดยลดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นลง ตลอดจนการเน้นใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งพยายามไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาผู้ป่วย แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวอีก โรงพยาบาลคงต้องปรับการบริหารจัดการเพิ่มอย่างระมัดระวัง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะกระทบต่อผู้ป่วยหรือไม่ แต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ "ยอมรับว่าหลายมาตรการที่รัฐบาลออก มาเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาล ทำให้เราบริหารจัดการได้ยากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนแพทย์ที่รับส่งต่อผู้ป่วยและรักษาโรคซับซ้อนที่มี ค่าใช้จ่ายสูง แต่ในส่วนของการบังคับใช้บัญชี ยาหลักแห่งชาตินั้น ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นโรงพยาบาลที่เน้นการใช้ยาในบัญชี ยาหลักแห่งชาติอยู่แล้ว และใช้ยานอกบัญชีในกรณีจำเป็น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มากนัก"
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบจากนโยบายเพิ่มค่าแรงนั้น ในกรณีที่เป็นข้าราชการสามารถเบิกจ่ายจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ได้ แต่อีกกว่าครึ่งหนึ่งหรือเกือบ 2,000 คน เป็นพนักงานลูกจ้างที่ทางโรงพยาบาลต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มเอง คาดว่าไม่ต่ำกว่า 50-60 ล้านบาทต่อปี รพ.สมุทรปราการขาดทุนปีละ 30 ล.
ขณะที่นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวว่า เดิมทางโรงพยาบาลขาดทุนอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายคงงบเหมาจ่ายรายหัวลง 3 ปี ประกอบกับนโยบายเพิ่มค่าแรงปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และค่าแรงวันละ 300 บาท ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ยาและเครื่องมือแพทย์ ยิ่งทำให้ทางโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุนมากกว่าปีละ 30 ล้านบาท โดยที่ไม่มีงบประมาณอะไรมาสนับสนุน ทำให้ต้องหาเงินจากนอกระบบด้วยการสร้างสัมพันธภาพกับทางเทศบาล องค์การบริการส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อขอให้ทางโรงพยาบาลไปตรวจสุขภาพของประชาชน คาดว่าจะทำให้โรงพยาบาลมีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งแทบจะไม่มีจังหวัดไหนทำเลย
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็พยายามปรับให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของท้องถิ่นอยู่ เพราะถึงอย่างไรก็ยังดีกว่ารองบประมาณอย่างเดียว นอกจากนี้ยังผลักดันให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวด้วย เพราะการที่แรงงานต่างด้าวไม่ขึ้นทะเบียนนั้น หากเขาไม่จ่ายเราก็ไม่สามารถไปเรียกเก็บจากใครได้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องเสียงบประมาณตรงนี้ไปกว่าปีละ 1 บาท
"เราต้องคิดและวางแผนต่อไปข้างหน้าอีก 5-10 ปี แม้เราจะมีเงินสำรองของโรงพยาบาลอยู่บ้างก็ตาม แต่เมื่อมีคนไข้เยอะ ก็ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม อย่างตอนนี้เราต้องจ้างหมอเพิ่ม 20 คนเพื่อทำงานที่โรงพยาบาลตำบล และทำงานให้กับโรงพยาบาลด้วย โดยให้ค่าจ้างคนละ 80,000 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งคนหนึ่งก็ประมาณเกือบล้านบาท และก็ยังจ้างพยาบาลอีกประมาณ 100 คน ตรงนี้ไม่มีใครรู้ ต้องยอมรับว่าบริหารงานยากมาก เราเลยไม่พยายามงอมืองอเท้า"
นพ.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลก็ไม่ได้ลดมาตรฐานการให้บริการผู้ป่วยลง อย่างนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่กำหนดให้โรงพยาบาลต้องใช้ยาในบัญชียาหลัก ก็ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่ได้ทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลลดลง
"ต้องยอมรับว่ายาบางตัวอาจจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกับยานอกบัญชียาหลักบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าประสิทธิภาพต่างกันเท่าไหร่ เพราะไม่เคยมีใครทำวิจัย เราก็ต้องมาดูเป็นกรณีๆ ไป แต่จะไม่ให้ใช้ยานอกบัญชีเลยก็ไม่ถูก ส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีเพื่อลดค่าใช้จ่ายยาที่ไม่สมเหตุสมผลออกไป"
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ตุลาคม 2555
- 32 views