นโยบายสร้างมาตรฐานเดียวในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์)ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นรูปธรรมครั้งที่ 2 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของประเทศที่มีอยู่ 3 กองทุน
ประกอบด้วย กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่1 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ให้สิทธิผู้ป่วยทุกหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเสมอหน้าทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่ถูกถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายค่าบริการ
ผลงานรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินในครั้งนั้น ถือเป็นผลงานรัฐบาลที่ควรได้รับการชื่นชมและให้การสนับสนุนอย่างยิ่งซึ่งเห็นได้จากคำชื่นชมจากภาคประชาชนฝ่ายวิชาการ กระทั่งนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ประกาศเดินหน้ากวาดคะแนนเสียงต่อด้วยการสร้างมาตรฐานเดียวเพิ่มอีกใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง เอดส์ และมะเร็ง
ระยะเวลาเพียง 6 เดือน รัฐบาลได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถประกาศรักษามาตรฐานเดียวได้ถึง 2 กลุ่มโรค นั่นคือ ไตวายเรื้อรังและเอดส์ แต่หากพิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าทั้งสองกลุ่มโรคนั้น ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ นำมาสู่ความเคลือบแคลงต่อนิยามคำว่ามาตรฐานเดียวว่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองหรือไม่
ก่อนจะมีนโยบายมาตรฐานเดียว ผู้ติดเชื้อเอดส์ทั้งสามกองทุนสุขภาพ ได้รับสิทธิประโยชน์เกือบจะเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ข้อแตกต่างมีเพียงเล็กน้อย เช่น สูตรยา เกณฑ์การเข้าถึงยา รัฐบาลจึงไม่ต้องออกแรงมากในการประกาศนโยบายได้ ซึ่งแตกต่างกับโรคไตวายเรื้อรัง ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งวิธีการรักษา สิทธิการเลือกรับการรักษา ชนิดยาการเข้าถึงยา รวมทั้งอัตราการเบิกจ่าย เป็นเหตุให้จนถึงขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ ได้
คำว่ามาตรฐานเดียวสำหรับโรคไตวายเรื้อรัง จึงเพียงแค่เปิดให้ผู้ป่วยที่ย้ายข้ามสิทธิประกันสุขภาพ เช่น จากประกันสังคมในวัยทำงานไปใช้บัตรทองเมื่อถึงวัยเกษียณสามารถได้รับการรักษาต่อด้วยวิธีเดิมตามที่เคยได้รักษามาตั้งแต่ต้นเท่านั้น ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด
รัฐบาลจึงไม่ควรประกาศความสำเร็จอย่างคลุมเครือเพียงหวังคะแนนเสียงหรือผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ควรหันกลับมามุ่งเน้นสร้างการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียวอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานเดียวให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งสามารถทำได้ง่ายดาย แค่ปรับยาให้ทั้งสามสิทธิใช้เหมือนกันและเบิกจ่ายได้เท่ากัน ซึ่งจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและประชาชนทั่วประเทศได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 ตุลาคม 2555
- 12 views