เฟซบุ๊คกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศถูกถล่มด้วย viral campaign กลยุทธ์ส่งต่อทางสื่อสังคมออนไลน์ คัดค้านการผูกขาดยาในเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป เอ็นจีโอผู้ริเริ่มการรณรงค์ชี้แนวทางนี้เพื่อต้องการให้กรมเจรจาการค้าชี้แจงเหตุผลว่าทำไมต้องเร่งรัดการเจรจาและบิดเบือนข้อมูล ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เมื่อเวลา 10 นาฬิกาเป็นต้นมา ในวันนี้(16 ส.ค.55) ในโซเซียลเน็ตเวิร์คมีการส่งต่อภาพและข้อมูลคัดค้านการยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยาในเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้
ภาพและข้อความที่ส่งต่อทอดกันทางออนไลน์ และจำนวนหนึ่งไปโพสต์ที่หน้าเพจของกรมเจรจาการค้า http://www.facebook.com/TradeNegotiations เป็นรูปภาพนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีข้อความว่า
“ช่วยกันส่งต่อเพื่อร่วมประณามกรมเจรจาการค้าที่เสนอให้รัฐบาลยอมแลกยากับการลดภาษีกุ้งไก่ งุบงิบข้อมูลเร่งรัดเจรจา EU-Thai FTA เราอยากได้ยินจากปากของคุณ เพราะไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริง...จริงหรือที่คุณศรีรัตน์เสนอให้รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องของอียูให้ผูกขาดข้อมูลทางยาโดยอ้างว่า ไม่มีผลกระทบ ทั้งที่งานวิจัยชี้ชัดว่าแค่ 5 ปี จะสูญเสียกว่า 80,000 ล้านบาท
จริงหรือที่จะมีการรวบรัดให้ ครม.อนุมัติอังคารนี้ โดยไม่ผ่านประชาพิจารณ์ หรือจะเอา ครม.ไปเสี่ยงผิด รธน.อีก
จริงหรือที่กรมเจรจาการค้าฯจะไม่รอและไม่ใช้รายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดจากเอฟทีเอกับอียูที่ อย.กำลังทำอยู่
อย่าให้เรื่องที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายนี้ ถูกตัดสินอย่างขาดข้อมูล ขาดความโปร่งใส หรือมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง หยุดมติครม. หยุดการผูกขาดยาเพิ่มอีก 5 ปี”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปภาพมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า “จับตารัฐบาลและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เอาอุตสาหกรรมยาไทย และระบบสุขภาพของประชาชนไปแลกกับผลประโยชน์การส่งออกไก่ กุ้ง โดยการยอมรับข้อเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลยไปกว่าข้อตกลงองค์กรการค้าโลก ซึ่งจะมีผลให้ เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา ที่เรียกว่า Data Exclusivity
กรมเจรจา ฯ ใช้วิธีการบิดเบือนข้อมูลสร้างความเข้าใจผิด เรียกการผูกขาดข้อมูลทางยาว่า "การคุ้มครองข้อมูลทดสอบทางยา" (Data Protection) และกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ไม่มีผลกระทบต่อราคายาปัจจุบัน และการที่ทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปีก็มีผลกระทบจำกัด ทั้งที่มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุผลกระทบไว้อย่างชัดเจนว่า หากไทยยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยาจะส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียเงินในเรื่องยากว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในโคลัมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้น 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,200 ล้านบาท) ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามลักไก่ไม่ยอมจัดทำประชาพิจารณ์ร่างกรอบเจรจาฯก่อนเข้ารัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หากท่านเห็นด้วยว่า การเจรจาการค้าต้องมีความโปร่งใส ต้องใช้ความรู้ ต้องตอบคำถามผลประโยชน์สาธารณะได้ ขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันโพสต์ ช่วยกันแชร์ ช่วยกันส่งต่อ เพื่อแสดงพลังและเสียงของคนไทยผ่านทางอีเมล เฟสบุ๊ค รวมทั้งSocial media ทุกรูปแบบ”
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะผู้ริเริ่มการรณรงค์ออนไลน์ดังกล่าวเปิดเผยว่า ต้องการให้กรมเจรจาการค้าฯออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า เหตุใดจึงมีการเร่งรัดการเปิดเจรจาฯเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ด้วยการบิดเบือนข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยอมตามการผูกขาดยาของสหภาพยุโรปที่เกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก
“เรื่องนี้เป็นเรื่องชีวิตของคนทุกคนที่มีโอกาสเจ็บป่วยต้องได้รับยารักษา จะรอป่วยก่อนค่อยคิดไม่ได้ ผลของเอฟทีเอที่จะให้ผูกขาดยา มันจะสร้างผูกพันและสร้างผลกระทบอย่างซึมลึก ฉะนั้นเราจึงต้องเชิญชวนทุกคนมาหยุดเรื่องนี้ก่อนป่วย ดังนั้น ขอให้กรมเจรจาการค้าหยุดการดำเนินการใดๆที่จะเอาร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบข้อมูลว่า กรมเจรจาฯให้ข้อมูลที่เป็นจริงครบทุกด้านกับ ครม.นอกจากนี้ เราจะทำหนังสือร้องนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะต้องไม่ดำเนินนโยบายใดๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน”นายนิมิตร์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปีจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด’ และมีมติที่จะเร่งนำร่างกรอบดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้เพื่อทันการพิจารณาของรัฐสภาใน ส.ค.
- 1 view