อ่านข่าวการให้สัมภาษณ์ของท่านรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง มันช่างจั๊กกะเดียมหัวใจดีแท้ เมื่อท่านอธิบดีให้สัมภาษณ์ในประเด็นการแก้ไขปัญหา งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ นัยว่าบานทะโร่เลยเถิดไปกว่า 6.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนแนวทางแก้ไขท่านอธิบดีรังสรรค์ระบุว่าจะใช้ระบบประกันภัยเข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการ และเพื่อความสะอาดว่าจะไม่มีแบงก์เก่านับพันล้านไปซุก อยู่ในบ้านตัวเองจึงสำทับว่า แนวคิดนี้ได้หารือกับบริษัททิพยประกันภัยที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 30-40% มาได้ระยะหนึ่งและเป็นวิธีการที่ดีกว่าไปหารือกับบริษัทประกันภัยเอกชน เพื่อป้องกันปัญหาถูกมองว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับภาคเอกชนหรือไม่!
อ้าว! ทิพยประกันภัยมิใช่เป็นบริษัทเอกชนหรอกหรือ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรของรัฐหรืออย่างไรแต่เป็นเรื่องโชคดีที่ สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการผู้ใหญ่ ทิพยประกันภัย ยังมีกระบวนทัศน์ทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ตั้งอยู่บนความเป็นจริงของธุรกิจประกันภัยจึงไม่ได้งัดกะลาเอาความเชื่อของข้าราชการมาเป็นจุดขายของทิพยประกันภัย ขยายความเชื่อนี้ออกไปสู่สาธารณชนแต่ถ้าผิดไปจากนี้ ว่าที่ดอกเตอร์สมพรต้องไปหาบริษัทใหม่ ซึ่งแว่วว่าเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการกำลังระดมทุน ระดมหุ้นเปิดบริษัทขึ้นมารองรับแถมตั้งชื่อไว้ล่วงหน้า....สหบาทาประกันภัย...ฮา!
แหม! เมื่อคิดลึกคิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง เพื่อเสี้ยมให้เป็นเรื่องอย่างนั้น ก็ต้องคิด เลยเถิดกันไปเลย ถ้าเกิดความเชื่อว่าทิพยประกันภัยมีฐานะแตกต่างไปดั่งที่ว่าไว้ ในแวดวงที่ประชุมของทีมงานลับ ซึ่งสำนักงานคปภ.จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหาทาง รับมือการเข้ามายึดประกันพ.ร.บ.ของฝั่งกระทรวงสาธารณสุข คงพบแสงเห็นธรรมได้ข้อยุติปัญหาทันทีมอบหมายให้บริษัทประกันภัยแห่งรัฐทิพยประกันภัยขายประกันพ.ร.บ. แต่เพียงผู้เดียว! อิๆๆๆ ฝั่งสาธารณสุขเจอมุกนี้ต้องยกธงขาวยอมแพ้แน่นอนคิดทีเล่นทีจริงอย่างนี้มันมีเค้าลางนะจ๊ะบอกให้ เพราะอย่าลืมว่าหนึ่งในทีมงานลับที่สำนักงาน คปภ.ตั้งขึ้นมานั้น มีชื่อสมพร สืบถวิลกุลอยู่ด้วย
ส่วนหัวหน้าทีมงานคือวิวัฒน์ เกิดไพบูลย์ รองเลขาธิการ คปภ. แต่เมื่อประชุมไปได้ระยะหนึ่ง ทีมงานต้องมึนตึ้บ เพราะประธานในที่ประชุมเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนแนวคิดกันถี่ยิบ โดยเฉพาะที่ปรึกษาใหญ่ ท่านคมคาย ธูสรานนท์ ได้โอกาสนั่งเป็นประธานเมื่อไหร่ ทีมงานจากภาคเอกชนต้องสะดุ้งโหยงทุกคราเพราะแนวทางแก้ปัญหาของท่านที่ปรึกษา...จ่ายแบบ M 150 ไม่มีลิมิตและจ่ายเร็วสถานเดียวถูกใจประชาชน แต่ขัดใจส่วนต่างกำไรประกันภัยว่างั้นเถอะ!
อย่างไรก็ดี แนวทางของท่านปรึกษาสอดคล้องกับแนวคิดองค์รวมของคณะทำงาน คือต้องเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยพ.ร.บ.ให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นไปแบบขั้นบันใด ส่วนท่านที่ปรึกษาต้องการให้ขึ้นลิฟต์ไปเลยจะขึ้นลิฟต์หรือไปตามขั้นบันใด เป็นคำตอบที่ถูกต้องแล้วครับ! เพราะจุดตายของบริษัทประกันภัยมิใช่ ประเด็นส่วนต่างของกำไรที่มีอยู่ประมาณปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้ประสบ ภัยจากรถยนต์มั่นใจได้ว่า ตนเองได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด รวมไปถึงจะทำอย่างไรที่จะทำให้โรงพยาบาลมั่นใจว่า ค่ายาค่าใช้จ่ายในการรักษานั้น บริษัทสามารถจ่ายคืนกลับมาได้เร็วสุด แน่นอนคำถามนี้ทางทีมงานลับคปภ.ได้หาคำตอบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว นัยว่าค่ารักษานั้นจะไม่มีกฎเกณฑ์ค่าเสียหายเบื้องต้น จะไม่มีกฎกติกาต้องพิสูจน์ถูกผิดเสียก่อน ให้สิทธิ์โรงพยาบาลรักษาเต็มที่ไปเลยตามกฎหมาย ไม่เกิน 50,000 บาท (เผลอๆ อาจจะมีการแก้กฎหมายให้มากกว่านั้นอีก)
ในขณะเดียวกันยังเปิดช่องทางให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินกลับสู่โรงพยาบาลได้เร็วขึ้น ด้วยระบบอีเคลม (ระบบนี้ต้องกดหัวแม่โป้งล้านๆ ครั้งให้กับท่านเอ็มดีสมพร เพราะวางระบบรองรับอย่างสมบูรณ์แบบไว้แล้ว เมื่อครั้งนั่งเป็นเอ็มดีบริษัทกลาง) ส่วนผู้ประสบภัยที่ไม่มีประกันพ.ร.บ.คุ้มครอง ทางกองทุนผู้ประสบภัยจากรถของสำนักงานคปภ.จะทำหน้าที่ควิกแคชแทนนั่นก็หมายความว่าข้อกังขายันข้อหาต่างๆ ที่ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขฟ้อง ร้องสังคม จะถูกล้างคราบคาวอย่างสะอาดหมดจดศึกชิงประกันพ.ร.บ.งวดนี้ คปภ.เริ่มทำแต้มได้สวยงามจริงๆ แต่เสียอย่างเดียว ไม่ได้บอกประชาชนเพื่อเรียกคะแนนอย่างว่าล่ะโยม! เลขาธิการ คปภ.ยังพร่ำเพ้อกองทุนประกันภัยพิบัติไม่สร่างซา...ฮา!
ที่มา: http://www.siamturakij.com
- 11 views