รพ.กทม. 9 แห่ง รับทราบนโยบาย 'ร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค' แต่ไม่เคร่งแนวปฏิบัติ ด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ชี้แค่เรื่องการเมือง แต่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้สถานบริการ
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรค ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ว่า โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย รพ.วชิรพยาบาล รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ตากสิน รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.ลาดกระบัง รพ.เวชการุณย์ รัศมิ์ รพ.สิรินธร และ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ ได้ประชุมร่วมกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ หารือถึงแนวทางเตรียมความพร้อม โดยมีข้อสรุปร่วมว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดรับทราบนโยบาย และพร้อมปฏิบัติตามนโยบาย แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา กทม.จะรับตามความสะดวกที่จะจ่าย โดยจะไม่กำหนดหรือบังคับให้ผู้ป่วยจ่ายเงิน
"เนื่องจากนโยบายนี้ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงที่ดีกว่าเดิม และยังเพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล พูดได้ว่า การเก็บเงิน 30 บาท เมื่อเทียบกับค่ากระดาษ เอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติมแล้ว ยังมากกว่าเงินที่ได้รับเสียอีก ถือเป็นการเพิ่มภาระค่าบริหารจัดการอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้ประชาชนช่วยค่าใช้จ่ายให้แก่โรงพยาบาล รัฐบาลควรกำหนดหักอัตราที่ลดหลั่นกันไปตามจำนวนค่ารักษาของ ผู้ป่วยที่ไปใช้บริการ ซึ่งจะทำให้มีเงินรายได้เข้ารัฐมากกว่า เพราะนโยบายนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องของการเมือง" พญ.มาลินีกล่าว
ด้าน นพ.ชูวิทย์ ประดิษฐ์บาทุกา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง กล่าวว่า ในช่วงแรกที่ใช้นโยบายดังกล่าว ต้องมีปัญหาแน่นอน ซึ่งนอกจากปัญหาการสื่อสารข้อมูลกับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่อาจจะเข้าใจนโยบายและข้อกำหนดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ตรงกันแล้ว การกำหนดกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นค่ารักษา 21 กลุ่ม โดยเฉพาะข้อที่ 21 อาจมีปัญหาในการตีความ คือ บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการคืออะไร และหากไม่จ่ายจะมีผลต่อการรักษาหรือไม่
วันเดียวกัน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงและประชาสัมพันธ์แผนแม่บทการแก้ปัญหา และพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ที่โรงแรมริชมอนด์ ว่า นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท เป็นอีกเรื่องที่ต้องพัฒนา โดยไม่เพียงจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี สะดวกสบายขึ้น แต่ยังให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในอนาคตจะขยายเรื่องการรักษาพยาบาลกรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยขณะนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อยู่ระหว่างต่อรองราคาน้ำยาล้างช่องท้อง เพื่อให้มีราคาเดียวที่เป็นมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เนื่องจากอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าบริหารจัดการ นายวิทยากล่าวว่า ไม่ต้องกังวล ใครไม่จ่ายก็ไม่มีปัญหา
ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 30 ส.ค. 2555
- 2 views