20 จังหวัดภาคอีสาน ในกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มคนรักประกันสุขภาพภาคเหนือ  ค้านเก็บ 30 บาทรักษาทุกโรค เผยพรรคเพื่อไทยหวังประโยชน์แค่รักษาหน้าทำตามนโยบายพรรค แต่ไม่เกิดประโยชน์ด้านบริการสุขภาพ พร้อมวางเครือข่ายให้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง 20 จังหวัดอีสานรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงข้อเสียนโยบายดังกล่าว

วานนี้ (22 ส.ค.) ที่ห้องแสงตะวัน โรงแรมแก่นอินน์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน ประกอบด้วยเครือข่ายผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน จัดประชุมและแถลงการณ์คัดค้าน "นโยบายการเก็บ 30 บาทของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย"โดยมีตัวแทนสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ภาคอีสาน ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

นายสุดใจ ตะภา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสานไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท จากผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพราะสิทธิการให้บริการรักษาพยาบาลนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งประชาชนร่วมจ่ายในรูปของการเสียภาษีอยู่แล้ว

จึงออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลที่ออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าว ซึ่งการเก็บ 30 บาทไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพบริการด้านสุขภาพได้จริงตามที่กล่าวอ้างทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิของประชาชนไทยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานด้วยสิทธิศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกัน นางดุษณี ดีเลิศ ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การผลักให้ประชาชนกลับมาจ่าย 30 บาท เป็นความเห็นของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ต้องการรีแบรนด์นโยบายของพรรคโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ประชาชน ไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้รักษาหน้าพรรคการเมืองของตัวเองไว้ว่าได้ทำตามนโยบาย มากกว่าห่วงเรื่องสุขภาพของประชาชน

โดยเครือข่ายจะขับเคลื่อนในทุกจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการรณรงค์ยื่นบัตรไม่ประสงค์ร่วมจ่าย  30 บาทต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อแสดงความประสงค์ว่าไม่ร่วมจ่าย 30 บาท ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนตามวงเล็บ 21 ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการพ.ศ. 2555

โดยจะทำความเข้าใจกับประชาชนถึงข้อเสียของนโยบายดังกล่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง และยังเพิ่มภาระให้โรงพยาบาลในการตรวจสอบสิทธิส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความสับสน นำไปสู่การปะทะกันของผู้ใช้บริการด้านสุขภาพกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ตลอดจนผู้ใช้บริการด้วยกันเอง

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสานได้ออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้งด้วยเหตุผล 5 ข้อ ประกอบด้วย

1. การเก็บ 30 บาทไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาทรวมทั้งหมด 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ

2. การพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการต้องใช้การจัดการงบประมาณผ่านค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อยกระดับพัฒนาระบบคุณภาพการรักษาและการบริการ ประกอบกับการลดรายจ่ายที่เกินจำเป็น

3. จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เพราะรักษาฟรี โดยจากข้อมูลอัตราการใช้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระหว่างปีที่ร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้ง กับปี2550 ที่ไม่มีการร่วมจ่ายก็ไม่มีความต่างในอัตราการใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญแต่คนมาใช้บริการมากขึ้นเพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นและการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น โรคเอดส์ มะเร็ง เป็นต้น

4. หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของประชาชนไทยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกันด้วยสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญ

5. ให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา61 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสานจึงขอย้ำว่า ประชาชนมีสิทธิจะไม่ร่วมจ่าย 30 บาท ตามวงเล็บ 21 ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ. 2555

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเหนือร่วมต้าน

ส่วนที่ ที่ห้องประชุมศรีโคมคำ 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดพะเยา น.ส.ชนากานต์ วงศ์วารินทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจังหวัดพะเยา ได้นำกลุ่มประชาชน และตัวแทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง กว่า 10 เครือข่ายที่แต่งกายด้วยชุดสีดำ เข้ายื่นหนังสือประสงค์ไม่ร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคพร้อมรายชื่อเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กว่า 1,234 รายชื่อ ถึงนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านนายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ที่เข้ารับหนังสือดังกล่าว

น.ส.ชนากานต์ วงศ์วารินทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจังหวัดพะเยา กล่าวว่า วานนี้ (22 ส.ค.55) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปางแม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน ได้แสดงพลังคัดค้านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง ด้วยการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงไม่เอานโยบายดังกล่าว เพื่อต้องการให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณายกเลิกนโยบายที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเป็นนโยบายนี้ ส่งผลกระทบต่อคนจน แม้ว่ารัฐบาลจะยกเว้นการเก็บเงินจากคนบางกลุ่ม แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ายากจนจริงๆ หรือทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ทั้งที่การเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี

น.ส.ชนากานต์ กล่าวย้ำว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ร่วมจ่าย 30 บาทตามวงเล็บ 21 ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ.2555

ด้านนายกาจ พลเอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวหลังจากรับเรื่องว่า ตนยินดีที่จะรับข้อเสนอจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจังหวัดพะเยาและเครือข่าย โดยจะรีบเสนอเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยารับทราบพร้อมลงนามเสนอไปยังส่วนกลาง เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน 23 ส.ค.55