คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเรื่องการเสนอ (ร่าง) ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “รักษามะเร็งมาตรฐานเดียว ข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย” พร้อมด้วย (ร่าง) ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ : กรณีศึกษาการพิจารณาความเหมาะสมในการเรียกเก็บค่าบริการร่วม30บาท ณ จุดบริการด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ณ ห้องแถลงข่าว ขั้น 3 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ สภาที่ปรึกษาฯ เผย จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพของไทย โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกเป็นอันดับหนึ่ง แม้ประเทศไทยจะเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านการบริหารงาน เช่น สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ อัตราการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ยาที่ได้รับ เป็นต้น สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เล็งเห็นว่า รัฐบาลควรดำเนินการรักษาโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็ง จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือ
1. ปรับสิทธิประโยชน์ และวิธีการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง 3 ระบบ (1).ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2).ระบบประกันสังคม 3).สวัสดิการของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและบุคลากรของรัฐ) โดยเป็นแบบเดียวกับระบบที่ดีที่สุด
2. ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการ โดยเฉพาะวิธีจ่ายเงินสำหรับการรับยามะเร็งแบบผู้ป่วยนอกให้เป็นลักษณะเฉพาะ อัตราเดียวกัน แยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาแพง สำหรับการจ่ายเงินแบบผู้ป่วยใน ให้จ่ายอัตราต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ที่เท่ากัน
3. ขอให้ทั้ง 3 กองทุน จัดงบประมาณให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น การใช้สารเคมีในอาหาร การตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น
ด้านนายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เตรียมยื่นความเห็นและข้อเสนอเพื่อคัดค้านนโยบาย “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคด้วยการพัฒนาทั้งระบบ” ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการร่วม30บาท ณ จุดบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากการขอรับบริการด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น การเรียกเก็บค่าบริการร่วม30 บาท เป็นการเพิ่มภาระของประชาชนที่มีรายจ่ายน้อย อีกทั้งข้อมูลและผลการสำรวจรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนพบว่า ประชาชนในกลุ่มที่ยากจนถึงยากจนที่สุดต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงกว่าประชาชนที่มีฐานะดี ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพในกลุ่มที่มีฐานะแตกต่างกัน ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว คือ ให้ยกเลิกการนำนโยบายเรียกเก็บเงิน 30 บาท ณ จุดบริการสุขภาพกลับมาใช้ และเร่งรัดการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้เกิดคุณภาพมาตรฐานเดียว และลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างของแต่ละกองทุน รวมทั้งกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มยังต้องจ่ายเงินสมทบค่าดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากประชากรไทยทุกคนต้องแบกรับภาระในการจ่ายภาษีโดยเท่าเทียมกัน
- 2 views