"วิชัย ทองแตง" ขาใหญ่ตลาดหุ้น ชี้ธุรกิจโรงพยาบาลไทยเนื้อหอม จับสัญญาณนักลงทุน ต่างชาติจ้องเขมือบ เผยหุ้น BGH มีต่างชาติถือเกือบเต็มเพดาน 49% หวั่นเปิดเออีซีเปิดทางต่างชาติ กินรวบ ชี้ล่าสุด "ไอเอชเอช เฮลท์แคร์" กองทุนยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลมาเลเซียเริ่มเปิดซื้อขายในตลาดหุ้นสิงคโปร์-มาเลย์จุดพลุนักลงทุนทั่วโลกจับจ้องเฮล์ธแคร์เอเซีย แนะโรงพยาบาลเล็กรีบสร้าง เครือข่ายเสริมแกร่งก่อนโดนกลืน
นายวิชัย ทองแตง รองประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจและต้องการลงทุนในหุ้นธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจโรงพยาบาลของไทยเป็นที่ยอมรับ มีผู้ป่วยในหลายประเทศสนใจเข้ามาใช้บริการรักษา ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ ตะวันออกกลาง ปัจจุบันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา ก็เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลที่เมืองไทยกันมาก โดยปีนี้ตัวเลขผู้รักษาพยาบาลต่างชาติสูงถึง 2.53 ล้านคน จากปีที่แล้ว 1.74 ล้านคน
"นักลงทุนและกองทุนต่างชาติสนใจหุ้นโรงพยาบาลเยอะ อย่างกรณี BGH ก็มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นจนเกือบเต็มโควตา 49% แล้ว และเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเป็นช่องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลของไทยได้เยอะขึ้นถึง 70% ซึ่งถึงตอนนั้นก็คงจะเห็นภาพชัดมากขึ้น" นายวิชัยกล่าว
โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งประกาศรายชื่อ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 30 อันดับแรกของ BGH เมื่อ 29 มีนาคม 2555 พบว่า มีผู้ถือหุ้น ต่างชาติดังนี้ CREDIT SUISSE, SINGAPORE BRANCH 2.03% STATE STREET BANK EUROPE 1.67% HSBC (SINGAPORE) 1.06%, NORBAX 0.52%
และในจำนวนนี้มี DEUTSCHE BANK AG SINGAPORE (DCS) 2.89% ซึ่งเพิ่งขายหุ้นทั้งหมด นายวิชัยกล่าวว่า ในกรณีนี้ส่วนตัวประเมินว่าเป็นการขายเพื่อทำกำไร ซึ่งน่าจะได้อย่างน้อย 30-40% ประกอบกับปัญหาวิกฤตยุโรปอาจทำให้ผู้ถือหุ้นของดอยช์แบงก์ ได้รับผลกระทบต้องการดึงเงินกลับก็เป็นไปได้ ซึ่งในส่วนนี้ตนจึงได้เข้าไปรับซื้อไว้บางส่วน
นายวิชัยกล่าวว่า ปัจจัยบวกที่ดึงดูดให้ผู้ป่วยในต่างประเทศนิยมเข้ามารักษาในไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากความโดดเด่นใน 3 ด้านได้แก่ คุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลในประเทศไทยถึง 24 แห่ง ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน JCIA (Joint Commission International Accreditation USA) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของทั่วโลก
รวมทั้งราคาค่ารักษาของไทย ยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างสหรัฐอาจถูกกว่าถึง 5 เท่า และต่ำกว่าสิงคโปร์อย่างน้อย 30-40% และสุดท้ายคือ บริการ ซึ่งคนไทยได้การยอมรับจากผู้ป่วยทั่วโลกถึงความเป็นมิตร ถือเป็น 1 ในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นผู้ป่วยทั่วโลกจึงหันเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว จนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในสายตานักลงทุนและกองทุนต่างชาติ
IHH เคลื่อน "เฮลท์แคร์" เอเชีย
นายวิชัยอธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะล่าสุดเมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทไอเอชเอช เฮลท์แคร์ (IHH Healthcare) ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลมาเลเซียที่มุ่งลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แบบสองตลาด ทั้งในตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่มีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในปีนี้ด้วยมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ถือเป็นกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เวลานี้มีเครือข่ายโรงพยาบาลในสิงคโปร์ มาเลเซีย ตุรกี อินเดีย รวมทั้งจีน และมีผลให้กลุ่มของ BGH กลายเป็นอันดับ 2 ไปทันที ซึ่งปัจจุบันมาร์เก็ตแคปของ BGH อยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
"การที่เราหล่นลงมาอยู่อันดับ 2 ของเอเชียไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะคุณสมบัติของโรงพยาบาลไทยยังดึงดูด ดังนั้นถึงไม่ชิงที่ 1 กลับมา เราก็อยู่ได้สบาย แต่ถ้าเราจะทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 เราต้องวางแนวทางขยับตัวมากกว่านี้" นายวิชัยกล่าวและว่าสิ่งสำคัญคือการรุกคืบของกลุ่ม IHH ซึ่งทำให้ขณะนี้ธุรกิจเฮลท์แคร์ในไทยและในเอเชียเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ก็เชื่อว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนสำคัญของกลุ่ม IHH
นายวิชัยกล่าวว่า หากประเทศไทยต้องการรักษาธุรกิจโรงพยาบาลไว้ นักธุรกิจไทยก็ต้องมีการร่วมมือสร้างเครือข่ายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งเช่นที่กลุ่ม BGH ดำเนินอยู่ เพื่อไม่ให้ถูกกลุ่มกองทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการได้ง่ายนัก เพราะการ ที่จะอยู่แบบเดี่ยว ๆ นั้นลำบาก แต่ก็ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาร่วมมือกับ BGH
ร.พ.มูลค่า 1 ใน 4 ของเฮลท์แคร์
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลมีมูลค่าเพียง 1 ใน 4 ของธุรกิจเฮลท์แคร์เท่านั้น ดังนั้นนอกจากการขยายเครือข่ายโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันในกลุ่ม BGH นั้นมีอยู่ 30 แห่งแล้ว และยังคงมีนโยบายขยายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมือง นอกจากนี้ก็กำลังมองหาโอกาสการลงทุน 3 ใน 4 ของธุรกิจเฮลท์แคร์
ดังนั้นที่ผ่านมา BGH จึงได้ขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ซื้อบริษัทผู้ผลิตยา เป็นต้น และหลังจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านอื่นเพิ่ม ซึ่งส่วนตัวมีความสนใจการทำรีสอร์ตเพื่อการพักฟื้นสำหรับต่างชาติ เพราะต่อไปหลายประเทศทั่วโลกจะกลายเป็นสังคมคนชรา จึงมองว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสอีกมาก
โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ไอเอชเอชตั้งเป้าที่จะเติบโตเป็นสองหลักภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและในตลาดยุโรปตะวันออกซึ่งมีความเป็นไปได้ และจากราคาหุ้นที่แข็งแกร่งของ IHH สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการบริการด้านสุขภาพและอนามัยในชนชั้นกลางของภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวขึ้น
ขณะที่นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทัล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในไทยมาก เนื่องจากมองว่าโรงพยาบาลนั้นเป็นธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับผล กระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เฮลท์แคร์หรือสถานพยาบาลก็ยังมีการเติบโตที่ดี และเติบโตต่อเนื่อง เป็นธุรกิจที่มีรีเทิร์นดี มีการจ่ายเงินปันผลทุกปี
"ช่วงที่ไอเอชเอช เฮลท์แคร์ของมาเลเซีย ที่จะเข้าตลาดหุ้นที่สิงคโปร์ เมื่อสัก 1 เดือนที่ผ่านมา สังเกตเห็นว่ามีนักลงทุนต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถจองซื้อหุ้นได้ ก็เลยเทการลงทุนส่วนหนึ่งมาที่หุ้นโรงพยาบาลบ้านเรา และทำให้หุ้นโรงพยาบาล 2-3 แห่งมีความเคลื่อนไหวมาก"
ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลางรายหนึ่ง กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลหลายแห่งมีเครือข่ายหรือจำนวนสาขาที่มาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนจาก ต่างประเทศให้ความสนใจ หากสังเกตจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาจะมีนักลงทุนต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลเป็น ระยะ ๆ และขนาดตลาดที่ใหญ่ก็จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
นอกจากนี้ โรงพยาบาลในไทยยังมีความได้เปรียบหลาย ๆ อย่าง ทั้งบุคลากร แพทย์ พยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย บริการที่ได้รับการยอมรับ ที่สำคัญราคาไม่แพง เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งมีสถานที่ ท่องเที่ยวมาก ฯลฯ เรียกว่าทุกอย่าง เอื้ออำนวย นักลงทุนต่างประเทศจึงสนใจ
"การเปิดเออีซีในปี 2558 ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น โรงพยาบาลจะต้องเร่งปรับตัวโดยเฉพาะ และโรงพยาบาลขนาดเล็กจำเป็นต้อง เตรียมความพร้อม เพราะวันนี้มีต่างประเทศสนใจจะเข้ามาร่วมธุรกิจด้วย"
ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม-1 สิงหาคม พ.ศ. 2555
- 78 views