คนไร้รัฐไม่ใช่คนต่างชาติ แต่คือคนไทยที่อาศัยในแผ่นดินไทย แต่ไม่ได้รับการดูแลให้มีสัญชาติไทยและให้เป็นพลเมืองไทย
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนไร้รัฐในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เขาคือชาวเขาพี่น้องชนเผ่าที่อาศัยในผืนแผ่นดินแห่งนี้มายาวนานเขาไม่ใช่คนพม่า เพราะประเทศพม่าก็ไม่ยอมรับเขาเป็นพลเมือง จะให้ประเทศพม่ายอมรับคนกลุ่มนี้เป็นพลเมืองได้อย่างไร ในเมื่อคนกลุ่มนี้เขาอาศัยมีบ้านเรือนมีสวนมีไร่อยู่ในเขตประเทศไทย แต่เขากลับถูกตีตราว่าเขาไม่ใช่คนไทย
ขณะที่รัฐไทยไม่ยอมรับเขาเป็นพลเมือง แต่เนื่องจากแผนที่โลกในภูมิภาคนี้มีแค่ประเทศไทยและประเทศพม่า ไม่มีประเทศไทยใหญ่ ไม่มีประเทศกะเหรี่ยง ไม่มีนครรัฐแห่งชนเผ่าต่างๆมากมายที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน เมื่อประเทศไทยไม่ยอมรับเป็นพลเมือง เขาจึงเป็นคนไร้รัฐแต่ต้องอยู่บนผืนแผ่นดินไทยต่อไป
ทำไมเขาถึงเป็นคนไร้รัฐ?ทั้งนี้ เพราะระบบการจัดทำทะเบียนบุคคลหรือบัตรประชาชนอย่างเป็นระบบนั้นเริ่มขึ้นในปี 2499 นี่เอง ในขณะนั้นการคมนาคมไม่สะดวกชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากไม่ได้มีโอกาสในการลงทะเบียนเพื่อขอมีบัตรประชาชนหรือหากแม้เขามีโอกาส แต่ก็ใช่ว่าจะมีเอกสารแสดงตนว่าเกิดในประเทศไทย
ในยุคนั้นเขาผู้อยู่ห่างไกลจะมีใบรับรองการเกิดได้อย่างไร ในเมื่อเขาเกิดกับหมอตำแยพื้นบ้าน อยู่จนเติบใหญ่ในป่าเขา ทำมาหากินเลี้ยงชีพจวบจนเมื่อถนนเข้าถึงต้องได้ติดต่อกับโลกภายนอก อำนาจรัฐเข้าไป รัฐจึงเริ่มทำทะเบียนบุคคลกลุ่มนี้ แต่เพราะเขาไม่มีเอกสารใดๆ ในการแสดงตน แถมยังพูดภาษาถิ่น พูดไทยไม่ชัดแต่งตัวเป็นคนพื้นเมืองแบบชาวเขา ร้องเพลงชาติไทยไม่ได้ เพราะไม่มีโรงเรียนให้เข้าเรียน จึงถูกมองด้วยสายตาแห่งความคลางแคลงใจ
บางกลุ่มได้รับการจดทะเบียนอยู่ในกลุ่มคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว เพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหาและพิสูจน์สัญชาติบ้าง เป็นกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนบ้าง แต่โดยรวมเขาคือคนไร้รัฐนั่นเอง
สิทธิในการมีสัญชาติเป็นหนึ่งในสิทธิสำคัญของคนทุกคนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การไม่มีสัญชาติส่งผลให้ไม่ได้รับสิทธิไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เมื่อไม่มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในประเทศไทย ต้องมีเอกสารวีซ่าการขอเข้าประเทศ หรือพาสปอร์ต แต่ประเทศไหนจะออกเอกสารให้เขาผู้ไร้รัฐ
จึงเท่ากับว่าคนไร้รัฐเสมือนเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่มีสิทธิเฉกเช่นคนไทย ไม่ได้รับบัตรทองในการรักษาพยาบาลฟรี มีปัญหาเรื่องการทำงานเพราะบัตรประจำตัวแตกต่างจากคนไทย ไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิทางการเมืองและสิทธิเลือกตั้ง
แม้แต่เรื่องเล็กๆเช่น การเปิดบัญชีธนาคารยังมีปัญหาในหลายพื้นที่ มีชีวิตอยู่ดิ้นรนกันไปโดยที่รัฐไม่สนใจดูแล
จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในปี 2553 มีจำนวนคนไร้รัฐที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย 513,795 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว เพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหาและพิสูจน์สัญชาติจำนวน 296,863 คน ซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแล้วในกองทุนเฉพาะสำหรับคนไร้รัฐที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 มี.ค. 2553
แต่ก็ยังมีกลุ่มที่รัฐไทยเรียกว่า กลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งมีบัตรประจำตัวบุคคลที่หมายเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์ อันสื่อถึงการไม่มีตัวตนที่เป็นที่ยอมรับในฐานะพลเมืองของรัฐไทย โดยมีจำนวน 210,1882 คน และยังไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพใดๆ
ในปัจจุบันก็ยังมีชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลตกสำรวจ และไม่เคยขึ้นทะเบียนบุคคลจากกระทรวงมหาดไทยเลย เช่น ในปี 2554 ชาวเขาในพื้นที่ ต.แม่คง และเสาหิน อ.แม่สะเรียงจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ห่างไกล เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่ตกสำรวจอีกอย่างน้อย 369 คน ซึ่งทางคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม สังฆมณฑลเชียงใหม่ ต้องช่วยสนับสนุนค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าที่พัก เพื่อให้มาขึ้นทะเบียนที่ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียงและได้รับการบันทึกเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ได้รับเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์
ในขณะที่ประเทศไทยพูดถึงรถไฟความเร็วสูง หรือบัตรสมาร์ตการ์ด แต่ยังมีคนชายขอบที่อยู่ห่างไกล และยังไม่ได้รับการจดทะเบียนบุคคลอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับการดูแลจากรัฐไทย เป็นความผิดของเขาหรือที่เกิดมาอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล
อย่างไรก็ดี 80% ของคนไร้รัฐ กระจุกตัวอยู่ใน 6 จังหวัดชายแดนไทย-พม่า คือ เชียงรายเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และระนอง และมี 3 จังหวัด คือ ระนอง แม่ฮ่องสอนและตาก ที่มีสัดส่วนคนไร้รัฐต่อประชากรสัญชาติไทยสูงกว่า 10% ของประชากรในจังหวัดปัญหาเหล่านี้จึงห่างไกลจากการรับรู้ของคนทั้งประเทศ และห่างไกลจากการใส่ใจของรัฐบาล
วันนี้คนกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์ ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ผลักดันและไม่มีความคิดที่แม้จะต่อสู้เพื่อสิทธิด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตีกรอบตนเองว่าดูแลแต่คนสัญชาติไทย
ความทุกข์จึงตกกับคน 2 กลุ่ม คนที่ทุกข์ที่สุดคือ กลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพราะยากจนและยามเจ็บป่วยยิ่งลำบาก ทั้งอยู่ไกลและไม่มีเงินจ่ายค่ายา ส่วนอีกกลุ่มที่ทุกข์แม้ไม่มากเท่าก็คือหมอ คือวิชาชีพสุขภาพ เพราะโดยจรรยาบรรณต้องรักษา จะปล่อยให้ป่วยไล่กลับบ้านไม่ได้ แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โรงพยาบาลห่างไกลก็มักจะยากจนมีหนี้ค่ายามากมายอยู่แล้ว
เมื่ออาการหนักจะส่งต่อก็ยิ่งยากลำบากเป็นความทุกข์ที่ผู้บริหารแม้รับรู้แต่ไม่เคยแก้ปัญหาในระดับนโยบาย
แม้เขาถูกจัดกลุ่มเป็นคนไร้รัฐ แต่แท้จริงเขาเป็นคนไทยที่มีตัวตนอาศัยในแผ่นดินไทย ซึ่งควรได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกับคนไทย งบประมาณหลักประกันสุขภาพหัวละ 2,067 บาท กับคนประมาณ 2 แสนคน เป็นเงินงบประมาณปีละ 413 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ซื้อรถถังมือสองจากยูเครนได้ 3 คัน ซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กได้ไม่ถึงครึ่งลำ แต่สามารถช่วยคนไทยที่ไร้รัฐให้มีคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้นกว่า 2 แสนคน
ถึงเวลาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไร้รัฐในสังคมไทยได้หรือยัง!
ในปี 2553 มีจำนวนคนไร้รัฐที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย 513,795 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราว เพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหาและพิสูจน์สัญชาติจำนวน 296,863 คน
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 13 ก.ค. 55
- 8 views