เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยว่า ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดบี (B) ส่วนใหญ่มักมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่น คือ มีโรคปอดบวมแทรกซ้อนด้วยในบางราย ซึ่งขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างทดสอบการดื้อยาของไวรัสชนิดสายพันธุ์บีเพื่อเฝ้าระวังต่อไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าประชาชนเข้าถึงวัคซีนไม่มากนัก ทั้งๆ ที่มีวัคซีนประมาณ 3.55 ล้านโดส ซึ่งมากและเพียงพอ แต่คนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึง เพราะอยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาล และบางคนยังติดภาพวัคซีนที่มีเข็มใหญ่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเข็มมีขนาดเล็กลง
พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการออกแบบเข็มขนาดเล็ก หรือเรียกว่า วัคซีนเข็มเล็กเพื่อฉีดเข้าผิวหนัง ยาวเพียง 0.5 มิลลิเมตร เล็กกว่าเข็มที่ใช้ทั่วไปถึง 10 เท่า ทั้งนี้ มีผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารวัคซีน เมื่อปี 2552-2553 ระบุว่า กลุ่มอายุ 18-60 ปี และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 7,000 คน ในทวีปยุโรป เมื่อได้รับวัคซีนเข็มเล็กที่ฉีดเข้าผิวหนัง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เนื่องจากบริเวณผิวหนังมีเซลล์รับระบบภูมิคุ้มกันอยู่มาก รวมทั้งมีหลอดเลือดฝอยและท่อน้ำเหลืองเชื่อมโยงอยู่หนาแน่น จึงทำให้ร่างกายตอบสนองได้สูงและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ซึ่งกว่าร้อยละ 98 พึงพอใจมาก
วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ในเข็มเดียว ได้แก่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไวรัสไข้หวัด 2009 ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 และชนิดบี ให้แก่กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-วันที่ 30 กันยายน 2555 ว่า ตลอดเดือนมิถุนายนมีผู้เข้ารับบริการแล้วกว่า 3 แสนโดส และกรมวิทยาศาสตร์ฯได้สุ่มตัวอย่างตรวจเชื้อ พบว่าปีนี้สายพันธุ์ที่พบการระบาดมากที่สุด คือชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2
--มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 4 views