เมื่อชุมชนในเมืองชายแดนอย่าง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ลุกขึ้นมาจัดการด้านสาธารณสุขในชุมชน เพื่อช่วยดูแล "ลุงนก" ชายชราไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งล้มเจ็บด้วยโรคอัมพฤกษ์ และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ 

“ขนาดหมาขี้เรื้อน คนไปเจอข้างทาง เขายังเก็บมาเลี้ยงได้เลย แล้วนี่ลุงนกเป็นคน เราจะไม่ดูแลเลยมันก็เกินไปแล้ว” นายอินสอน ชาวไทใหญ่คนหนึ่งบอกอย่างนั้น หลังจากไปเยี่ยมลุงนก ในเพิงกระต๊อบโกโรโกโส ริมถนนในหมู่บ้านมหาธาตุ ต.แสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา

ลุงนก เป็นชายชรา วัย 70 ปี เป็นชาวไทใหญ่ ที่อพยพมาจากเมืองปั่น ฝั่งรัฐฉานของพม่า ข้ามมาฝั่งไทย ทางบ้านเปียงหลวง ของอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุว่าทำไมแกถึงเดินเท้าดั้นด้นมาถึงฝั่งไทยนั้น ถ้าคนที่ติดตามเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็คงจะรู้ดีอยู่แล้วว่า เพราะความทุกข์ ความยากลำบาก จากภัยสงครามความขัดแย้งในพม่านั่นแหละ แน่นอนว่า ทั้งเด็กหญิงเด็กชาย ผู้ใหญ่หรือคนวัยชราต่างถูกกดขี่ข่มเหงจากพวกม่าน หรือทหารพม่ากันมานานหลายสิบปี

ลุงนก เป็นคนไทใหญ่อีกคนหนึ่งที่ตัดสินใจข้ามมาอยู่ฝั่งไทย เพียงคนเดียวโดยลำพัง เมื่อสิบกว่าปีก่อน

หลังจากนั้น แกสร้างกระต๊อบเล็กๆ อยู่ในหมู่บ้านมหาธาตุ ตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอาศัยความขยัน อดทน เป็นคนรับจ้างทำไร่ทำสวนไปวันๆ เริ่มตั้งแต่ค่าแรงวันละ 40-50 บาทจนมาถึงวันละ 100 บาท พอเลี้ยงดูตัวเองให้อยู่รอดไปได้ แต่ก็กับไม่อดอยากลำบากและไม่ต้องหวาดระแวงกลัวทหารพม่าหรือภัยสงครามเหมือนแต่ก่อน

แต่ปัญหาชะตากรรมชีวิตคนเรานั้นมักมาเยือนโดยไม่รู้ตัว

เมื่อจู่ๆ ในวันหนึ่ง ลุงนกได้ออกไปรับจ้างทำงานในสวนเหมือนเช่นปกติทุกวัน แต่วันนั้นลุงนกลื่นล้มลงไปกองกับพื้น ลุกขึ้นเดินไม่ จนเพื่อนบ้านต้องพากันนำส่งโรงพยาบาลเวียงแหง

ลุงนก กลายเป็นอัมพฤกษ์ ลุกนั่ง ยืน เดินไม่ได้ และได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานหลายเดือน ก็ยังไม่ดีขึ้น จนหมอบอกว่าต้องย้ายไปรักษาตัว ทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลเชียงดาว แต่ลุงนกบอกไม่อยากไป อาจเป็นเพราะ หนึ่ง แกเป็นคนไม่มีญาติพี่น้อง สอง แกไม่มีเงินติดตัวสำหรับค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาลเลย และสาม เพราะว่าลุงนก เป็นคนไร้สถานะ เป็นคนไร้รัฐ เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ ทั้งสิ้น

ในที่สุด ลุงนกตัดสินใจขอกลับมาอาศัยอยู่ในกระต๊อบโกโรโกโสใกล้พังผุ ริมถนนในหมู่บ้านมหาธาตุตามเดิม

สภาพการณ์เช่นนั้น ทำให้ชีวิตของลุงนกต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ทรมานอย่างสาหัส เมื่อตัวเองเป็นอัมพฤกษ์ ลุกนั่งไม่ได้ ต้องนอนแบบอยู่อย่างนั้น โดยมีชาวบ้านละแวกใกล้เคียงสงสารนำอาหารมาให้ลุงนกกินพอประทังไปวันๆ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครมาดูแลทำความสะอาดให้ ไม่มีใครมาคอยดูแล อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือกระทั่งลุกนั่งขี้เยี่ยว ปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนั้น จนกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่ว

และภาพที่หลายคนได้เดินทางไปประสบพบเห็นนั้นชวนสังเวชและหดหู่ใจ

“ขนาดหมาขี้เรื้อน คนไปเจอข้างทาง เขายังเก็บมาเลี้ยงได้เลย แล้วนี่ลุงนกเป็นคน เราจะไม่ดูแลเลยมันก็เกินไปแล้ว” นายอินสอน ที่ปรึกษาโครงการแรงงานข้ามชาติ และดูแลเรื่องการศึกษาและสุขภาพ ของมูลนิธิมิตรไมตรี กล่าวออกมา หลังจากได้ไปเยี่ยมลุงนก

นายอินสอน บอกว่า พอรู้ข่าวจาก นายธนกร วงศ์ษาวิชัย ผู้ใหญ่บ้านมหาธาตุ เขาได้ชักชวนอาสาสมัครทั้งชาวไทใหญ่และชาวต่างประเทศ ขึ้นไปเยี่ยมดูลุงนก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“ช่วงที่พวกเราได้เดินทางไปเวียงแหง เราได้แวะซื้อที่นอน หมอน มุ้ง และเสื้อผ้าที่จะเปลี่ยนให้ลุงนก รวมทั้งเครื่องมือของใช้ทำความสะอาด เพราะว่าแก ไม่ได้อาบน้ำมา 4 ปี แล้ว”

พอไปถึงกระต๊อบของลุงนก สภาพที่เห็นคือ ลุงนกนอนแซ่วอยู่ท่าเดิมมานาน เสื้อผ้าไม่เคยเปลี่ยน ถ่ายปัสสาวะ อุจาระเรี่ยราดส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง อินสอนกับอาสาสมัคร ได้ช่วยกันทำความสะอาดร่างกายของลุงนกทันที

“เราช่วยกันตัดเล็บ ตัดผมให้ลุงนก ส่วนที่นอนหมอนมุ้งเก่า เราเอาทิ้งหมด เปลี่ยนให้ใหม่ แล้วเราก็อาบน้ำให้ด้วย”

จากนั้น นายอินสอนได้ปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อบต.ในพื้นที่ ว่าจะวางแผนช่วยเหลือเยียวยาและหาทางออกให้กับลุงนกได้อย่างไร

“เราก็ได้ตกลงให้หาชาวบ้านในชุมชนเป็นอาสาสมัครมาช่วยความสะอาด คอยเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำให้อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง โดยเราจะมีค่าตอบแทนให้เดือนละ 1,000 บาท เพราะที่ผ่านมา มีแต่คนเอากับข้าวมาให้ แต่ไม่มีใครช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือว่าอาบน้ำให้กับลุงนก นานๆ จะมีคนมาคุยด้วย คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้เพราะว่ากลิ่นตัวรุนแรงมากเพราะลุงนกแกไม่ได้อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้านานแล้ว” นายอินสอน บอกเล่าให้ฟัง

ว่ากันว่า ในวันนั้น ลุงนกมีสีหน้ายิ้มแย้มขึ้นมาก หลังจากมีคนมาช่วยเหลือในเบื้องต้น

“ต่อจากนี้ลุงนก คงจะสะดวกสบายขึ้น เพราะจะมีคนมาช่วยดูแลทำความสะอาดให้ ดูลุงนก จะมีความสุข ซึ่งชาวบ้านก็พูดกันว่าทำไมฝรั่งอยู่ต่างประเทศเขายังมาช่วยเหลือ ทำไมพวกเราไม่ช่วยกันดูแลเอาใจใส่ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้ช่วยกันดูแลส่งข้าวส่งน้ำมาให้ลุงนก เพียงแต่ว่าไม่มีใครมาอาบน้ำให้เท่านั้น”

ที่หลายคนกังวลกันก็คือ บริเวณด้านหลังของลุงนกนั้น เริ่มจะมีแผลเพราะการนอนทับท่าเดียวเวลานานๆ

“แผลตรงนี้ถ้าเราไม่รีบรักษา อาจจะใหญ่ได้ เราก็ต้องช่วยกันดูแล อย่าให้แผลมันใหญ่ขึ้นกว่านี้”

และอีกเรื่องหนึ่ง คือกระต๊อบเก่าๆ ของลุงนก นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซม

“เรามีแนวคิดจะสร้างกระต๊อบหลังใหม่ให้ลุงนก เพราะว่าหลังเก่า หลังคาเป็นสังกาสี ตอนกลางวันมันร้อนมากๆเลย อีกอย่างหนึ่งลุงนกไม่มีห้องน้ำ แถวรอบบ้านๆ จึงมีกลิ่นแรงมากๆ”

กระทั่ง เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านมหาธาตุได้ร่วมกับชาวบ้านได้มาช่วยกันสร้างบ้านกระท่อมหลังใหม่ให้ลุงนก ในขณะที่มีการรวบรวมทุนปัจจัยเอาไว้สำหรับช่วยเหลือลุงนกไว้ได้ส่วนหนึ่ง

นายอินสอน บอกว่า ตอนนี้ได้มีการประชุมหารือ และได้ตั้งคณะกรรมการที่จะช่วยดูแลเงินผู้มีน้ำใจจะบริจาคช่วยลุงนก ผ่านชื่อบัญชี นาย ธนกร วงศ์ษาวิชัย ธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงดาว เลขที่บัญชี 5160260854เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าอาหาร ค่าของใช้ประจำวัน รวมทั้งค่าตอบแทนอาสาสมัครที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับลุงนกในแต่ละวันในแต่ละสัปดาห์ โดยสามารถติดต่อช่วยเหลือได้ที่ นายอินสอน เบอร์โทร 0800148956และนายธนกร วงศ์ษาวิชัย ผู้ใหญ่บ้านมหาธาตุ เบอร์โทร 0861920509

“ตอนนี้ ถ้าหากท่านใด สนใจอยากเข้ามาช่วยเหลือลุงนก ทางเรายินดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร หรือสมทบทุนปัจจัยที่เราได้รวบรวมมาได้ ก็จะนำไปจัดสรรให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน เป็นค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าเครื่องนอนเครื่องใช้ รวมไปถึงค่าตอบแทนน้ำใจที่อาสาสมัครได้เข้ามาดูแลลุงนกด้วย”

และนี่คือการให้นั้นมีค่ายิ่งใหญ่กว่าการรับ และถือว่าเป็นการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเบื้องต้น

นายอินสอน กล่าวว่า “ในความเห็นของผม ในเบื้องต้น อยากให้คนในชุมชนช่วยกันดูและเอาใจใส่ช่วยเหลือและมีเมตตาให้กันและกัน  ไม่อยากให้คนแบบนี้เป็นภาระของสังคม จากนั้น อยากให้ทั้งพระสงฆ์หรือว่าศาสนาคริสต์ได้เข้ามาช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าช่วยเหลือเกื้อกูล ยึดหลักเมตตาธรรม หลังจากนั้น อาจตั้งกองทุนเล็กๆ เพื่อเอาเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือทางสังคมหรือคนที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายหรือคนที่ไม่มีทางเลือก อย่าไปรอคนที่อื่นทีอยู่ไกลๆหรือองค์กรเอ็นจีโอ เข้ามาช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในชุมชนหรือที่อยู่ใกล้ๆอย่างเช่น อสม. คนในหมู่บ้าน หรือคณะสงฆ์ในท้องถิ่นควรมานั่งปรึกษาหาทางออกของปัญหาเท่าทีเราช่วยได้”

นายอินสอน กล่าวอีกว่า ในส่วนของหน่วยงานรัฐ ก็อยากให้ ทางสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูและเช่นการตั้งคลินิกเคลื่อนที่ เข้าไปเยี่ยมเยือนทุกเดือน และที่สำคัญ อยากให้ทางภาครัฐตั้งนโยบายช่วยเหลือคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ เพราะว่าคนแบบนี้อาจมีอีกหลายคนที่เรามองไม่เห็น หรือเข้าไปช่วยเหลือไม่ทั่วถึง เพราะคนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการรับการอนุเคราะห์ช่วยเหลือ

“จริงๆ แล้ว ทางหน่วยงานของรัฐควรให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รวมกันในโลก ไม่ใช่ว่าพอเขาไม่มีบัตรประจำตัว แล้วก็ไม่มีสิทธิจะดูแลรักษาอย่างนี้” นายอินสอน กล่าว

กรณีลุงนก คนไทใหญ่คนนี้ ถือว่าเป็นเพียงหนึ่งกรณีศึกษาเท่านั้น กับการมีชีวิตอยู่กับความป่วยไข้ ความลำบากและทุกข์ยากของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยเราในขณะนี้

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้กล่าวถึง เรื่องของสิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพของบุคคลตามหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการสากล ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามหลักสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

รวมไปรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ส่วนที่ 9 สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ มาตรา 51 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในขณะเมื่อหันมามองดูกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ ยังได้รับผลกระทบอยู่ซ้ำๆ และในหลายๆ พื้นที่ ยังไม่ได้รับสิทธิในการดูแลรักษา แต่ยังมีคนที่ตกหล่น หายไปอยู่เป็นจำนวนมาก

“ระบบสุขภาพในประเทศเราสลับซับซ้อนพอสมควร เพราะแยกแตกออกไปหลายระบบ พูดง่ายๆ คือ ถือกำเนิดมาไม่เหมือนกัน และสนองตอบต่อกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ที่เห็นๆ ในบ้านเราตอนนี้ มีอยู่ 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพ,ระบบประกันสังคม,สวัสดิการข้าราชการ/พนักงานของรัฐ ต่อมาก็มีเพิ่มขึ้นมาเฉพาะกลุ่มอีกอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ ระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ และกองทุน ‘คืนสิทธิ’พื้นฐานด้านสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” นายสุมิตรชัย กล่าว

นายสุมิตรชัย กล่าวว่า แต่ในความเป็นจริงในขณะนี้ เราอาจยังอยู่ห่างไกลจากหลักการเหล่านี้ อาทิเช่น

1.ยังไม่เท่าเทียมเสมอกัน เพราะการที่รัฐมีระบบสุขภาพหลากหลายระบบ สนองตอบต่อกลุ่มบุคคลต่างกัน มีการบริหารจัดการจากหน่วยงานที่ต่างกัน ภายใต้กฎหมายที่ต่างกัน ได้รับหรือให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน นั่นแสดงว่า บุคคลหรือประชาชนภายในรัฐ/ประเทศไทย ได้รับการดูแลสุขภาพหรือบริการสาธารณสุขต่างกัน

2.การแบ่งระบบบริการสุขภาพหรือสาธารณสุขออกเป็นหลายระบบดังที่กล่าวมา มีการจัดสรรงบประมาณในการดูแลสุขภาพของประชาชนแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน

3.การเข้าถึงหน่วยบริการ มีระบบการบริหารจัดการหรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่เหมือนกัน และมีขั้นตอนแตกต่างกัน

4.การรับบริการของประชาชนแต่ละกลุ่มก็ได้รับการบริการที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน หรือได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน

“ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องมีการรวมตัวกันเพื่อผลักดัน ให้การบริการด้านสุขภาพของรัฐมีมาตรฐานเดียวกัน เท่าเทียมกัน และได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเสมอหน้ากัน จนนำมาสู่การผลักดันให้รัฐบาลรวมระบบการบริการสุขภาพให้นำมาอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพเพียงระบบเดียว รวมไปถึงนำเอางบประมาณหรือกองทุนต่างๆ มาบริหารจัดการไว้ที่เดียว โดยมีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยประสิทธิภาพและมาตรฐานเดียวกัน” นายสุมิตรชัย กล่าวในตอนท้าย

ที่มา : www.prachatai.com