เวทีผู้บริหารสาธารณสุขอาเซียน ร่วมถกแก้ปัญหามาลาเรียระบาด หลังปี 53 อาเซียนพบผู้ป่วยกว่า 5 แสนราย เสียชีวิตกว่า 1,500 ราย แถมพบปัญหาเชื้อดื้อยา ขณะที่ในไทย ปี 55 พบผู้ป่วยกว่า 8,000 รายแล้ว สธ.เตรียมผลักดันความร่วมมือเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาค
สถานการณ์โรคมาลาเรียทั่วโลก พบว่าแต่ละปีมีประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เกิดขึ้นในแอฟริกา ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งยังมีแนวโน้มปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยการประชุม "RBM partnership side meeting with ASEAN" หรือการประชุมผู้บริหารด้านสาธารณสุขจากประเทศแถบอาเซียน (ASEAN) และผู้บริหารจาก Roll Back Malaria Partnership (RBM) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดปัญหาด้านมาลาเรียได้ร่วมกันหารือในเรื่องนี้
นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในกลุ่มประเทศอาเซียน ปี พ.ศ. 2553-2554 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ม.ค. 2555) พบว่า ผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ปี 2553 มีจำนวน 560,625 ราย เสียชีวิต 1,526 ราย และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์โรคมาลาเรียในทุกประเทศอาเซียนลดน้อยลง เนื่องจากประเทศต่างๆ มีความมุ่งมั่นจะลดการดื้อยามาลาเรีย และมุ่งสู่การยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลก 7 ประเทศ (ยกเว้น สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย) ทำให้การควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากบริเวณชายแดนประเทศไทย- กัมพูชา และไทยพม่า มีหลักฐานการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในกลุ่มยาอาร์ติมิซินิ และการเคลื่อนย้ายประชากรจากภายในประเทศและข้ามประเทศ ทำให้ปัญหาโรคมาลาเรียยังมีความจำเป็นที่จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งความจำเป็นในการได้รับการสนับสนุนทรัพยากรให้พอเพียงต่อการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในภูมิภาคนี้ต่อไป
คณะกรรมการบริหาร RBM (RBM Executive Board Member) จะมีวาระครั้งละ 4 ปี โดยแบ่งระยะเวลาการเป็นคณะกรรมการเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 2 ปี โดยเลือกให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นกรรมการในช่วงแรกและประเทศไทยเป็นคณะกรรมการในช่วงที่ 2 ซึ่งจะเริ่มกลางปี 2555 นั้น เพราะฉะนั้น ในการประชุม RMB Partnership Side Meeting ครั้งนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะให้ประเทศในภูมิภาคนี้ ได้รับทราบการดำเนินการขององค์กร RBM และเลือกตัวแทนกรรมการสำรองที่จะเป็นกรรมการจริงในอีก 2 ปีข้างหน้าต่อจากไทยรวมทั้งเป็นโอกาสที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้แลกเปลี่ยนการดำเนินการในการควบคุมป้องกันไข้มาลาเรียจนทำให้ภูมิภาคนี้มีผู้ป่วยน้อยลงและสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อได้ในที่สุด
พบผู้ป่วยมาลาเรียไทย 33,408 ราย
สถานการณ์โรคมาลาเรียในไทย ในปี 2554 พบผู้ป่วย 33,408 ราย แยกเป็นผู้ป่วยคนไทย 15,396 ราย ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 18,012 ราย แยกเป็นรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 2,676 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 9,484 ราย จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 1,250 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 1,733 ราย และจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ป่วยไทย 816 ราย ล่าสุดในปี 2555 นี้ (1 ม.ค.-31 พ.ค. 2555) พบผู้ป่วยทั้งหมด 8,891 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วยคนไทย จำนวน 4,433 ราย ผู้ป่วยชาวต่างชาติ จำนวน 4,458 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 1,331 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 2,335 ราย รองลงมาคือจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 360 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 635 ราย
"โรคมาลาเรีย จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค แหล่งเพาะพันธุ์ส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนไทยที่มีบริเวณเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชันมีลำธาร วิธีการป้องกันทำได้โดยการนอนกางมุ้งและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น การสวมเสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด การใช้ยาทากันยุงหรือยาจุดกันยุง เป็นต้น หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว" นายแพทย์ศิริศักดิ์ กล่าว
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
- 23 views