นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าว ถึงกรณีที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน สั่งการให้จัดทำร่าง ระเบียบการส่งกลับแรงงานต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาวและกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และตั้งครรภ์ 3 เดือน กลับไปคลอดลูกที่ประเทศต้นทาง และสามารถกลับเข้ามาทำงานได้ตามเดิมภายหลัง คลอดบุตรแล้ว ว่า นายเผดิมชัยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากฎหมายไทย รวมถึง กฎหมายสากลที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวและหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อออกมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีกฎหมายห้ามแรงงานต่างด้าวตั้งท้องเข้ามาทำงานในประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น หากตรวจปัสสาวะแล้วพบว่าตั้งท้องก็จะให้กลับประเทศต้นทางไปก่อน เมื่อคลอดแล้วจึงให้กลับเข้ามาทำงาน แต่ในส่วนของประเทศไทยจะต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหากรณีที่ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์
อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า สำหรับคณะทำงานฯประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และเอ็นจีโอ ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในสัปดาห์หน้าและคาดว่าจะใช้เวลาจัดทำมาตรการ ดังกล่าว 2 เดือน หลังจากนั้นจะนำมาตรการเสนอต่อคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เพื่อขอความเห็นชอบ
"กระทรวงแรงงานไม่มีนโยบายที่จะส่งแรงงานต่างด้าวที่ตั้งท้องกลับประเทศต้นทาง และทางกระทรวงก็ได้ดูแล แรงงานต่างด้าวอย่างดีโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายโดยหากแรงงานต่างด้าวตั้งครรภ์ ทางสถานทูต พม่าจะออกหนังสือรับรองสถานะ (CI.) ให้แก่เด็กต่างด้าวที่คลอดออกมา ซึ่งเด็กมี สิทธิ์เข้าเรียนในโรงเรียนของไทยได้ ขณะที่แรงงานหญิงต่างด้าวที่คลอดลูกก็ยังกลับไปทำงานได้เช่นเดิม ทั้งนี้ นโยบายของ รมว.กระทรวงแรงงาน เป็นแนวคิดที่จะ ปลดล็อกไทยออกจากการถูกต่างชาติมองว่า ไทยมีปัญหาค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก โดยจะดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอ็นจีโอ มาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันและหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งท้อง ไม่ได้มุ่งจะผลักดันออกนอกประเทศแต่อย่างใด" นายประวิทย์ กล่าว
ที่มา: นสพ.แนวหน้า 3 ก.ค.2555
- 227 views