ที่ประชุมวิชาการ สธ.อาเซียน หนุนการพัฒนาเครือข่ายการฝึกอบรมนักระบาดวิทยา ระดมสมองหาแผนป้องกันและควบคุมโรค หวังก้าวทันมาตรฐานสากล
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่โรงแรมโมเวนพิค รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต นพ.อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุม ASEAN+3 Field Epidemiology Training Network (ASEAN+3 FETN) หรือการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง เครือข่ายฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนามประเทศ ASEAN บวก 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นคณะกรรมการจาก 10 ประเทศในอาเซียนและอีก 3 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US CDC), มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation), USAID, DAI, MBDS and TGLIP และหน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหมด 60 คน เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน ในการควบคุมป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคไม่ให้ลุกลาม ก่อผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและผลกระทบด้านอื่นๆ
การประชุม ASEAN+3 FETN ในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ประเทศไทยจัดการประชุมเครือข่ายฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม ASEAN + 3 FETN ครั้งที่ 1 ในกรุงเทพฯ และพัทยา ซึ่งผลการประชุมได้แผนงาน 4 ปี ซึ่งประเทศสมาชิกจะดำเนินการร่วมกันและประเทศไทยรับเป็นประธานระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2555 และประเทศเมียนมาร์กับฟิลิปปินส์ รับเป็นประธานในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ ในการประชุมครั้งนี้จึงเป็นก้าวที่สำคัญอีกครั้งเพื่อทบทวนและสรุปผลการดำเนินงานเด่นๆ ในรอบครึ่งปีแรก ก่อนเสนอให้กับรัฐมนตรีสาธารณสุขทราบในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ยังเป็นเวลาที่เหมาะสมในการผลักดันพันธสัญญาในการปกป้องประเทศในภูมิภาคให้ปลอดภัยจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ และปัญหาสาธารณสุขฉุกเฉินผ่านเครือข่ายฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนามระหว่างประเทศ
ด้านนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ในฐานะประธานเครือข่ายฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของเครือข่ายฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม (ASEAN+3 FETN) จะมีผู้ผ่านการอบรมและที่กำลังรับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม และเป็นตัวหลักในงานบริการสาธารณสุขภายในประเทศ รวมถึงมีประเทศต่างๆ จำนวนมากที่พึ่งพาการทำงานที่ยอดเยี่ยมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เช่น การเฝ้าระวังโรค และการสอบสวนการระบาดของโรค จากรายงานทราบว่าเครือข่ายนี้มีความร่วมมือระหว่าง 13 ประเทศ ซึ่งจะนำความรู้และประสบการณ์จากงานระบาดวิทยาภาคสนามมารับมือกับปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศและในภูมิภาคนี้
สาระสำคัญในการประชุม มี 5 ประการ ดังนี้ 1. การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ทบทวนและสรุปผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน 4 ปี ซึ่งจะเน้นการพัฒนางานป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การเฝ้าระวังโรคและภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหวและอื่นๆ ภายใต้การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2.หาแนวทางเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งของนักระบาดวิทยาภาคสนามในการจัดการระบบเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ทั้งในและระหว่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
3. การสรุปผลการดำเนินงานและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมนำเสนอผลงานการควบคุมและป้องกันโรคของ 13 ประเทศ เพื่อนำเสนอต่อการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในวันศุกร์ ที่ 6 กรกฎาคมนี้ 4. การผลักดันพันธะสัญญาในการปกป้องประเทศในภูมิภาคให้ปลอดภัยจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ และ 5. การศึกษาดูงานระบบเฝ้าระวังและการเตือนภัยสึนามิของจังหวัดภูเก็ต
“นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า กลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN+3 FETN จะเป็นศูนย์กลางการฝึกทางระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนบุคลากรและการดำเนินงานที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคทั้งโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำภายในประเทศและภูมิภาคเอเชียต่อไป” นพ.คำนวณกล่าวปิดท้าย
- 73 views