องค์กรเอ็นจีโอด้านเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. จับมือกำหนด 1 ก.ค.และให้ตลอดเดือนก.ค.ทั้งเดือนเพื่อเป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดเอชไอวีแห่งชาติ ชวนประชาชนทบทวนความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีที่ผ่านมาในครึ่งปีแรกเตรียมรณรงค์กระตุ้นให้คนไปขอรับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ด้าน “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์” พร้อมให้บริการปรึกษารองรับความต้องการของประชาชน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ว่า ที่ประชุมคณะทำงานส่งเสริมการเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งประกอบไปด้วยคนทำงานเรื่องเอดส์จากภาครัฐและเอกชน ได้กำหนดให้วันที่ 1 ก.ค.ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวีแห่งชาติ (VCT Day) เพื่อรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของการรู้ผลการติดเชื้อเอชไอวีของตนเองเพราะการรู้ผลเลือดจะช่วยทำให้เกิดผลดีต่อการดูแลสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากหากผลออกมาเป็นลบซึ่งหมายถึงไม่ติดเชื้อเอชไอวีก็จะได้หาทางเลือกในการป้องกันที่เหมาะกับตัวเอง ดูแลผลเลือดตัวเองให้เป็นลบตลอดไป แต่หากผลเป็นบวกซึ่งหมายถึงติดเชื้อเอชไอวีก็จะได้ประเมินภาวะสุขภาพและเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วย ทั้งนี้ ตลอดเดือนกรกฎาคมจะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์โฆษณา สปอตวิทยุ บิลบอร์ด และคลิปรณรงค์ทางโซเชียลมีเดีย โดยมีสโลแกนว่า “เอชไอวี...ตรวจเพื่อก้าวต่อ” เพื่อชี้ชวนให้เห็นว่าการตรวจเอชไอวี การรู้ผลเลือด จะช่วยให้ชีวิตเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างปกติ ไม่สะดุดล้มเพราะความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากเอชไอวี
นายแพทย์สรกิจ ภาคีชีพ ผู้จัดการอาวุโสกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยวัณโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สปสช.ได้ตั้งงบประมาณสำหรับประชาชนที่ต้องการขอรับบริการปรึกษาโดยในปี 2555 นี้ตั้งไว้ที่ประมาณ 400,000 ราย แต่ขณะนี้มีผู้มารับบริการเพียง 200,000 กว่าราย คาดว่าการรณรงค์เนื่องในวันรณรงค์ตรวจเอชไอวีแห่งชาติ 1 ก.ค.จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มทหารเกณฑ์และหญิงตั้งครรภ์ที่ยังมีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องเกรงว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ เพราะ สปสช.ให้สิทธิประโยชน์เรื่องการตรวจเลือดเอชไอวีปีละ 2 ครั้งกับประชาชนไทยทุกคนและทุกสิทธิเพียงแสดงหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็ขอรับบริการได้ที่หน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง และหากตรวจพบการติดเชื้อก็สามารถรับบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“ผมอยากเชิญชวนว่า หากใครที่ประเมินว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีให้มารับบริการที่หน่วยบริการที่ท่านสะดวกและสบายใจซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหน่วยบริการประจำที่ท่านไปลงทะเบียนไว้ แต่ขอให้เป็นหน่วยบริการที่อยู่ในระบบของสปสช.เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ ผลการตรวจเลือดของทุกท่าน จะถูกเก็บเป็นความลับโดยการเข้ารหัสหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักและใช้รหัส NAP number แทน เพื่อให้ผู้รับบริการสบายใจเรื่องการรักษาความลับรวมถึงจะได้ช่วยติดตามหากผู้รับบริการหายไปจากระบบ เพราะเอชไอวี/เอดส์ เป็นโรคที่ต้องรับบริการรักษาอย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์สรกิจ กล่าว
นางสาวเอมอร คงศรี เจ้าหน้าที่ศูนย์ “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์” กล่าวว่า 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ พร้อมให้บริการประชาชนที่ต้องการโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาความกังวลเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์หรือต้องการข้อมูลเพื่อการดูแลรักษา โดยเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00 -20.00 น. และพร้อมประสานส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการหากผู้รับบริการมีความประสงค์จะตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี
ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) กล่าวว่า อยากชวนพี่น้องที่ทำงานเอดส์จากทุกภาคส่วนให้มาช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เอดส์ไปสู่เป้าหมาย Getting to zero คือลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ และลดการตีตราผู้ติดเชื้อ ซึ่งการที่คนรู้สถานะผลเลือดของตัวเองจะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คนทำงานก็ต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญกับเรื่องความสมัครใจและความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการด้วย
- 2 views