จากกรณีที่ประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้ง 3 กองทุนอย่างเสมอภาค ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายสหรัฐ ศราภัยวานิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การขยายสิทธิผู้ป่วยไตวาย และผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับการรักษาที่เท่าเทียม ขอให้รัฐบาลพูดถึงสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากมติที่ประชุมเห็นชอบเพียง 2 เรื่อง คือ 1.การกำหนดให้ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคไตวายเหมือนกันทุกกองทุน โดยยึดเกณฑ์ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย 2.กรณีผู้ป่วยเปลี่ยนสิทธิจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนให้สามารถรักษาด้วยวิธีเดิมมตินี้ไม่ถือว่าเสมอภาคเพราะเป็นมติที่แต่ละกองทุนทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การวินิจฉัย หรือแม้แต่การย้ายสิทธิ ตรงนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด
นายสหรัฐกล่าวว่า สิ่งสำคัญควรดำเนินการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม คือ วิธีการจ่ายเงิน ค่ายารักษา สิ่งเหล่านี้ยังมีความแตกต่างมาก ยกตัวอย่าง การฟอกเลือด ในระบบบัตรทอง แม้จะจ่ายให้หน่วยบริการ 1,500 บาท แต่หากเป็นผู้ป่วยไตวายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ต้องจ่ายเอง 500 บาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) จะจ่ายให้ 1,000 บาท ส่วนประกันสังคมมีการแบ่ง 2 กลุ่มเหมือนกัน โดยกลุ่มแรกหากป่วยหลังเข้าประกันสังคม รัฐจ่ายให้ 1,500 บาท แต่ หากมีส่วนต่าง ผู้ป่วยต้องจ่ายเอง กลุ่มสอง หากป่วยก่อนเข้าประกันสังคม ต้องจ่ายเอง 500 บาท รัฐจ่ายให้ 1,000 บาท ขณะที่สิทธิข้าราชการจ่ายให้ 2,000 บาท ตรงนี้ไม่เสมอภาค
นายสหรัฐกล่าวว่า ชมรมมีข้อเสนอรัฐบาล ดังนี้ 1.ให้ สปสช.ยกเลิกการเรียกเก็บร่วมจ่าย 500 บาทต่อการฟอกเลือดหนึ่งครั้งในกรณี ผู้ป่วยเก่าฟอกเลือดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 2.ขอให้ผู้ป่วยไตวายรายใหม่ทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ให้เริ่มต้นทำการทดแทนไตผ่านช่องท้องก่อน เพราะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีกว่า และลดต้นทุนในอนาคต 3.ให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มค่าชดเชย ฟอกเลือด ค่าชดเชยทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และสนับสนุนยากระตุ้นการเพิ่มเม็ดเลือดแดง เหมือนระบบ สปสช. และห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยทุกกรณี 4.ให้กรมบัญชีกลางปรับราคาค่าฟอกเลือด ค่าทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และยากระตุ้นการเพิ่มเม็ดเลือดแดง ให้เป็นราคามาตรฐานเดียวกับ สปสช. วันที่ 4 กรกฎาคม ชมรมจะประชุมหารือว่ายื่นข้อเสนอให้แก่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือไม่
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กลไกการจ่ายเงินกรณีผู้ป่วยไตวายแต่ละกองทุนหารือกันตลอด แต่ติดเรื่องงบประมาณ ทำให้ต้องศึกษารายละเอียด เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการในเรื่องของเกณฑ์การวินิจฉัยโรค การให้ความสะดวกสบายในการรักษา ไม่ว่าจะย้ายสิทธิไปสิทธิไหนก็ตาม รวมทั้งการขยายหน่วยบริการล้างช่องท้องเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นระดับอำเภอ ตามพื้นที่ห่างไกล เพราะที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ สำหรับนโยบายสร้างความเสมอภาคโรคไตวาย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี คาดว่าดำเนินการได้จริงช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งขยายจากเดิมกำหนดไว้เดือนกรกฎาคม เนื่องจากต้องมีการเตรียมความพร้อมต่างๆ
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 29 มิ.ย. 2555
- 15 views