กระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นเจ้าภาพจัด 3 การประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนจาก 13 ประเทศ ระหว่างวันที่ 2 – 6 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดภูเก็ต ปีนี้เน้นหนัก 5 เรื่องหลัก ได้แก่ การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหารุนแรงติดอันดับโลก การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การควบคุมการบริโภคยาสูบ โรคเอดส์ในเขตเมือง และการรับภัยพิบัติฉุกเฉิน
วันนี้ (22 มิถุนายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค และนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว ว่า ในวันที่ 2 - 6 กรกฎาคม 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี (11th ASEAN Health Ministers Meeting and Its Related Meetings, 2012: 11th AHMM) ที่โรงแรมโมเวนพิค รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต โดยจะมีเวทีการประชุมใหญ่ 3 เวที ประกอบด้วย 1.การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบูรไน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรไทย 2.การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม คือร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ครั้งที่ 5 (5th ASEAN Plus Three Health Ministers Meeting: 5th ASEAN+3 HMM) และ3.การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกจีน ครั้งที่ 4 (4th ASEAN Plus China Health Ministers Meeting: 4th ASEAN + China HMM)
นายวิทยา กล่าวต่อว่า หัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ คือ “ประชาคมอาเซียน 2015 : โอกาสและความท้าทายด้านสุขภาพ” (ASEAN Community 2015: Opportunities and Challenges to Health) เพื่อระดมสมองในการแสวงหามาตรการเพิ่มผลทางบวก และลดผลกระทบทางลบด้านสุขภาพ ที่อาจจะเกิดจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งความร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งมีประชากรเกือบ 2,000 ล้านคนหรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก ขณะนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัฐมนตรีสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูง และนักวิชาการระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ประมาณ 200 คน โดยมีระดับรัฐมนตรีตอบรับมาร่วมประชุมเอง 12 ประเทศ
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวง (Senior officials) ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2555 มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขของไทยเป็นประธานการประชุม เป็นเวทีวิชาการ เพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ หลังจากการประชุมในปี 2553 การเตรียมประเด็นและเนื้อหา ข้อเสนอเชิงนโยบายเข้าสู่เวทีการประชุมที่ 2 คือการประชุมระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2555 ซึ่งจะร่วมกันพิจารณาและรับรองข้อเสนอจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของอาเซียนในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญลำดับสูงสุดร่วมกัน โดยจะมีการประกาศข้อตกลงความร่วมมือของรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน (Joint Statement of the 11th ASEAN Health Ministers’ Meeting) ซึ่งเนื้อหาหลักจะเน้น 5 เรื่องหลัก ได้แก่ การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ การลดการบริโภคยาสูบ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการควบคุมป้องกันโรคเอดส์ในเขตเมือง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
ด้านนายแพทย์สุวิทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 จะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ (retreat) ระหว่างรัฐมนตรีฯ อาเซียน 10 ประเทศ เพื่อสร้างความคุ้นเคย และเป็นช่องทางในการติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการในอนาคต โดยจัดในลักษณะกลุ่มย่อย 3 รอบ เพื่อให้รัฐมนตรีได้พบปะและคุ้นเคยกันทุกคน และใช้ประเด็นเรื่องโรคไม่ติดต่อ (NCD) โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอาเซียนและของโลก เป็นประเด็นในการหารือ เป็นต้น ส่วนในวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 จะมีการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข 2 เวที ได้แก่ เวที 10 ประเทศอาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรืออาเซียนบวก 3 ครั้งที่ 5 จะมีการหารือโต๊ะกลมเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลไกการสนับสนุนการสร้างระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพและการพัฒนาศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ และการเห็นชอบให้มีเครือข่ายความร่วมมือในประเทศอาเซียนบวกสาม โดยไทยจะเป็นผู้รับประสานงานในเรื่องนี้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้ง 13 ประเทศจะประกาศข้อตกลงความร่วมมือของอาเซียนบวกสาม เน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2.การควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อ และ3.การฝึกอบรมนักระบาดวิทยา (Field Epidemiology Training Network) และเวทีที่ 2 คือการประชุมของรัฐมนตรีสาธารณสุข 10 ประเทศอาเซียนกับจีน ครั้งที่ 4 เป็นการหารือโต๊ะกลมเน้นมาตรการ กลไกควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น การเพิ่มภาษี การห้ามโฆษณา การควบคุมจุดขาย เป็นต้น เนื่องจากประชากรจีนได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่จำนวนมาก ซึ่งจะประกาศกรอบความร่วมมือ 3 เรื่อง ได้แก่ การควบคุมการบริโภคยาสูบ โรคไม่ติดต่อ และการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ และจะมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนและจีน (ASEAN-China Memorandum of Understanding on Health Cooperation) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า นอกจากเวทีการประชุมระดับนโยบายแล้ว ยังมีการประชุมวิชาการย่อยคู่ขนาน (side meeting) ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ในประเด็นสำคัญ เช่น เครือข่ายการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม การประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้มีการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาคอาเซียนประสบความสำเร็จ รวมทั้งการประชุมแก้ไขปัญหาเอดส์เพื่อบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่เป็นศูนย์ของกลุ่มประเทศอาเซียน 3 เรื่องได้แก่ การไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มขึ้น ไม่มีการกีดกันผู้ติดเชื้อเอดส์ และไม่มีการเสียชีวิตจากเอดส์ (ASEAN Declaration of Commitment: Getting to Zero New HIV Infections, Zero Discrimination, Zero AIDS-Related Deaths) ซึ่งจะมีการคัดเลือกเมืองตัวอย่างของแต่ละประเทศที่จะดำเนินการตามปฏิญญาดังกล่าว
- 12 views