เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายวิทยา บุรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวหลังประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งพิจารณาเรื่องนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ว่าในการประชุมบอร์ด สปสช. มีมติตามคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ที่มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ให้เรียกเก็บ 30 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม
"การเรียกเก็บต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้ เรียกเก็บกรณีประชาชนไปใช้บริการและได้รับการสั่งจ่ายยาเท่านั้น หากไม่มีการสั่งยาไม่ต้องเรียกเก็บ ช่วง 6 เดือนแรกนับจากเริ่มมาตรการให้เรียกเก็บเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลในระดับจังหวัด พวกโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.) รวมถึงโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย" นายวิทยากล่าว และว่า ต่อมาอีก 6 เดือนหลังจากนั้นจะขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศกลางปี 2556
นายวิทยากล่าวว่า การเรียกเก็บจะยกเว้นกลุ่มคนยากจน ซึ่งจะมาจากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล โดยกลุ่มคนยกเว้นมีประมาณ 24 ล้านคน จาก 47 ล้านคนในระบบ กลุ่มดังกล่าวจะเป็นไปตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล พ.ศ.2537 ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีบริบูรณ์ บุคคลผู้พิการ พระภิกษุ สามเณร ทหารผ่านศึก ทหารเกณฑ์ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ไม่ต้องร่วมจ่ายเงินดังกล่าว อีกทั้งนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทยังครอบคลุมทุกช่วงเวลา จากเดิมจะเน้นช่วงเช้า ล่าสุดให้ขยายไปยังช่วงบ่าย เพื่อความสะดวกของผู้รับบริการด้วย
"จากมาตรการดังกล่าวจะทำให้หน่วยบริการมีเงินรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาท ให้แต่ละหน่วยบริการบริหารจัดการเอง ซึ่งจะนำไปพัฒนาคุณภาพต่างๆ ได้" นายวิทยากล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)
- 1 view