บอร์ด สปสช. เตรียมถกเก็บ 30 บาท 13 มิ.ย.นี้ คาดประมาณรายได้เกือบ 2,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มคุณภาพรักษาบริการประชาชน ขณะที่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นหนังสือเปิดผนึก นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ค้านเก็บเพิ่ม 30 บาท เหตุสวนทางนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ทำผู้ป่วยยากจนด้อยศักดิ์ศรี ด้าน สธ.ผุดโครงการ ไข่ใหม่แลกยาเก่าติดฝาบ้าน
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวยอมรับว่า ในวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ในการประชุมบอร์ด สปสช. จะมีการนำเสนอเรื่องจัดเก็บ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เข้าสู่ที่ประชุมด้วย ภายหลังจากที่ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ สปสช. ที่มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ไปพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บ 30 บาทได้ในเดือน ส.ค.นี้
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นว่าจะมีการนำเสนอในที่ประชุมบอร์ด แต่ขณะนี้ รายละเอียดยังไม่สรุปชัดเจน 100% ต้องรอความเห็นจากบอร์ดก่อน จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม โดยขั้นตอน หากเรื่องนี้ทางบอร์ด สปสช.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ส่วนจะสามารถจัดเก็บได้ในเดือน ส.ค.หรือไม่นั้น คงไม่เป็นปัญหา
ชี้เพิ่มรายได้สุขภาพ 2 พันล้าน
ส่วนข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย การร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช.นั้น ได้ระบุรายละเอียดการจัดเก็บ 30 บาท โดยมีหลักการเพื่อสร้างความมีศักดิ์ศรีของประชาชนและให้อิสระกับประชาชนในการตัดสินใจว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ ซึ่งให้พิจารณาหลังการรับบริการไปแล้ว พร้อมยกเว้นคนยากจนและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือ โดยกรณีคนยากจนเข้ารับบริการให้แจ้งต่อหน่วยบริการภายหลังรับบริการว่าไม่พร้อมจ่ายค่าบริการ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ไม่ต้องมีการลงทะเบียนคนจน นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ที่ไม่พอใจบริการ หรือไม่ต้องการจ่าย 30 บาท สามารถแจ้งขอไม่จ่ายค่าบริการได้เช่นกัน โดยกำหนดให้เริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2555 ซึ่งรายรับนั้นจะให้หน่วยบริการนำไปพัฒนาคุณภาพบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ตามนโยบาย รับบริการได้ทั้งวัน ทุกที่ ทุกคน
จากข้อมูลประชากรที่ต้องร่วมจ่ายกรณีผู้ป่วยนอก มีจำนวน 23,479,730 คน อัตราการใช้บริการอยู่ที่ 63,562,735 ครั้ง โดยการประมาณการรายรับจะอยู่ที่ 1,906,882,050 บาท (ประมาณการจากข้อมูลปี 2554) และเมื่อแยกออกเป็นหน่วยบริการ คาดว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,940 แห่ง จะมีรายรับ 951,289,050 บาท หรือ 95,703 บาทต่อแห่ง
และหน่วยบริการสังกัด สปสช. 175 แห่ง ประมาณการรายรับ 16,961,070 บาท หรือ 96,920 บาทต่อแห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 718 แห่ง ประมาณการรายรับ 19,463,372 บาท หรือ 813,233 แห่งต่อแห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 68 แห่ง ประมาณการรายรับ 153,484,500 บาท หรือ 2,257,125 บาทต่อแห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง ประมาณการรายรับ 95,364,000 บาท หรือ 3,815,560 บาทต่อแห่ง และหน่วยบริการสังกัดอื่น รวมโรงพยาบาลและคลินิก 350 แห่ง รายรับ 105,882,270 บาท หรือ 302,521 บาทต่อแห่ง
เอ็นจีโอค้านเก็บ 30 บาท
ด้าน นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนการร่วมจ่าย 30 บาท เนื่องจากทราบว่าในการประชุมบอร์ด สปสช. ที่จะถึงนี้จะมีการพิจารณาการร่วมจ่าย 30 บาท
ทั้งนี้ การเก็บค่าธรรมเนียมร่วมจ่ายที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการ ถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะการเก็บเงินจะส่งผลกระทบต่อคนจนถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนที่มีรายได้ประจำและคนรวย ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่ม ประชาชนที่ยากจน แต่จุดนี้ คือ ข้ออ่อนที่สุดเช่นกัน เพราะจะทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ด้อยค่า เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่าย ยากจน
ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรทำให้มีสองมาตรฐานในนโยบายเดียวกัน จึงขอให้รัฐบาลทบทวนการเก็บเงิน 30 บาทอย่างรอบคอบ และขอเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าให้ความเห็นต่อบอร์ด สปสช. ต่อเรื่องนี้
ไข่แลกยาเก่าลดค่าใช้จ่าย
วันเดียวกัน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า จากผลสำรวจเมื่อปี 2554 พบว่าคนไทยใช้ยาวันละ 128 ล้านเม็ด แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้บริโภคทั้งหมด บางส่วนได้รับยาไปแล้วไม่ได้ใช้ บางรายลืมกินยาบ้าง ทำให้ยาหมดอายุและเก็บทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดโครงการ ไข่ใหม่แลกยาเก่าติดฝาบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ โดยประชาชนสามารถนำยาเก่าที่ไม่ได้ใช้ไปแลกไข่สดได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้คัดแยก โดยยาที่หมดอายุแล้วจะรวบรวมเพื่อทำลายทิ้ง ส่วนที่ยังใช้ได้จะคืนให้กับประชาชนไป ทำให้สถานบริการไม่ต้องจ่ายยาซ้ำซ้อนไปอีก
ไข่ที่เราซื้อมาฟองละไม่เกิน 5 บาท ซึ่งกำลังดูอยู่ว่าจะให้เท่าไร อาจจะดูที่จำนวนยาแล้วก็สมาชิกในครอบครัวว่ามีกี่คน เบื้องต้นได้ให้งบประมาณดำเนินการจังหวัดละ 100,000 บาท และคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมได้หลายล้านบาท นายวิทยากล่าว
ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.ค.นี้ แต่มีบางจังหวัดที่นำร่องโครงการไปแล้ว เช่น จังหวัดเชียงรายที่เริ่มทำใน 20 ตำบล ใช้งบประมาณในการซื้อไข่ไก่จำนวน 4,000 บาท แต่สามารถแลกยาเก่ารวมมูลค่าแล้วประมาณ 80,000 บาท ถือว่าประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยยาที่นำมาแลกคืนมากที่สุด คือ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพง
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 12 มิ.ย. 55
- 4 views