แพทย์หญิง อรินทยา พรหมินธิกุล หมอไทยคนเก่งจากโรงพยาบาล มหาราช นครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เจ้าของ ผลงานวิจัย Influenza vaccination reduces cardiovascular events in patients with acute coronary syndrome ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ ชื่อดัง "The best in European Heart Journal" ปี 2012 คุณหมออรินทยาศึกษาวิจัยเรื่องการ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจกำเริบในกลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยเริ่มจากการสังเกตของ อาจารย์ รศ.นพ.ศรัณย์ ควรประเสริฐ ว่า ในบางฤดูจะมี ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว จึงได้มีการศึกษาวิจัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) หรือ ACS
งานวิจัยคลีนิกชิ้นนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเดือนตุลาคม 2551 ติดตามผลการรักษาประมาณ 1 ปี ใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยประมาณ 2 ปี ศึกษาในคนไข้ 400 กว่าคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ACS แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ได้รับวัคซีนและอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน แล้วติดตามไปอีก 12 เดือนเพื่อศึกษาอัตราการเกิดภาวะ ACS การเสียชีวิต หรือการนอนโรงพยาบาลจากหัวใจล้มเหลวหรือเปล่า เมื่อติดตาม 12 เดือนก็มาวิเคราะห์พบว่าวัคซีนสามารถดลดการเกิดภาวะ ACS อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและมีแนวโน้มที่จะลดการเสียชีวิต
วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยนี้ต้องการศึกษาผลของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใน ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ว่าจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งประกอบด้วย การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำ การเกิดหัวใจล้มเหลว หรือการเสียชีวิตในระยะเวลาที่ติดตาม 1 ปีได้หรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนเกิดภาวะแทรกซ้อนทางโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 1 ปีต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
นับเป็นเรื่องน่าดีใจของแพทย์ไทยที่คุณหมออรินทยาจะนำเสนอผลงานวิจัยในเวที European Society of Cardiology Annual Meeting ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ในหัวข้อ The Best of European Heart Journal 2012 ในเดือนสิงหาคมนี้
งานวิจัยชิ้นนี้จะมีประโยชน์กับคนไทย และทั่วโลกเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และในผู้ป่วยที่รอดชีวิตก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงรวมทั้งต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะผู้ที่เคยเกิดโรคแล้วจึงมีความสำคัญ โดยควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือด
ที่มา : นสพ.มติชน 7 มิ.ย. 55
- 146 views